Page 83 - kpi21595
P. 83
สำหรับการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงความเป็นพลเมืองนั้น คำสำคัญที่อาจระบุถึงการเปลี่ยนแปลง
ความเป็นพลเมืองตระหนักรู้ คือ ตระหนักในสิทธิ เสรีภาพ จิตอาสา การเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์ของ
ชุมชน การรับฟังข่าวสารความเป็นไปของชุมชน และการรู้จักโครงการ/กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการในชุมชน
เป็นต้น คำสำคัญเหล่านี้สามารถระบุให้เห็นได้ถึงความรู้ความเข้าใจที่กลุ่มตัวอย่างมีต่อความสำคัญและบทบาท
ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงความสนใจต่อความเป็นไปในชุมชนทั้งทางด้านสังคม-การเมือง
ของกลุ่มตัวอย่าง อันสอดคล้องกับนิยามพลเมืองตระหนักรู้
ส่วนคำสำคัญที่อาจระบุถึงการเปลี่ยนแปลงความเป็นพลเมืองกระตือรือร้น คือ เป็นอาสาสมัคร/จิต
อาสา กล้าแสดงความเห็น เข้าร่วมกลุ่ม/กิจกรรม/ประชุมประชาคม เรียกร้องและร้องเรียนต่อผู้นำ เป็นต้น คำ
เหล่านี้เป็นคำสำคัญที่ดึงออกมาจากตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองกระตือรือร้น ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการ
แสดงออกและการมีพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างได้ว่าเป็นไปในลักษณะของพลเมืองกระตือรือร้นหรือไม่ หาก
กลุ่มตัวอย่างไม่ระบุถึงพฤติกรรมดังกล่าวเลยก็อนุมานได้ว่ากลุ่มตัวอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการเป็น
พลเมืองที่มีความกระตือรือร้น
สำหรับคำสำคัญที่อาจระบุถึงเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งเสริมหรือขัดขวางต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็น
พลเมืองตระหนักรู้และกระตือรือร้นนั้น ผู้วิจัยกำหนดคำสำคัญตามกรอบการวิจัยที่กำหนดไว้ในเรื่องของปัจจัย
นำเข้า (input) กระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองโดยแกนนำพลเมืองในระดับพื้นที่ (process) และ
สภาพแวดล้อม (environment) ที่เกี่ยวข้องทั้งสภาพแวดล้อมทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และปัจจัย
ภายในของผู้ให้สัมภาษณ์ ด้วยเหตุนี้ คำสำคัญที่อาจระบุถึงเงื่อนไขปัจจัยดังกล่าวจึงมีดังนี้ รู้จัก/ไม่รู้จักโครงการ
เข้าร่วม/ไม่เข้าร่วมโครงการ ทำ/ไม่ทำโครงการ เคยฟัง/ไม่เคยฟัง จำได้/จำไม่ได้ ตั้งใจ/ไม่ตั้งใจ สนใจ/ไม่สนใจ
ทำงาน/เรียนหนังสือ มีเวลา/ไม่มีเวลา รายได้เพิ่ม/รายได้ลด กลุ่ม/กองทุน สำเร็จ/ไม่สำเร็จ ต่อเนื่อง/ไม่
ต่อเนื่อง งบประมาณ ความนิยม ประชาคม และมติ เป็นต้น ซึ่งคำสำคัญเหล่านี้สามารถอนุมานได้ถึงเงื่อนไข
ปัจจัยตามกรอบการวิจัยข้างต้นได้ อาทิ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้ไม่มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรม
ปัญหาเรื่องความทรงจำที่ทำให้ผู้นั้นแม้จะเคยเข้าร่วมกิจกรรมแต่ก็ไม่สามารถให้คำอธิบายความหมายและ
ความสำคัญของพลเมืองได้ ปัญหาเรื่องรูปแบบของกิจกรรมพวกเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะใดมีส่วนร่วม
มากน้อยเพียงใดและมีความต่อเนื่องในการเข้าร่วมกิจกรรมเพียงใด เป็นต้น
ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) จากเนื้อความ
ที่บันทึกไว้ ถ้อยคำที่ปรากฎเป็นข้อความ เหตุการณ์แวดล้อม รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้ให้สัมภาษณ์ในขณะที่ให้
สัมภาษณ์ เพื่อค้นหาความหมายที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องการสื่อสารออกมา โดยในที่นี้จะใช้การวิเคราะห์เนื้อหาที่อิง
กับการศึกษาเชิงปริมาณร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึกประกอบกัน ทั้งนี้เพราะผู้วิจัยต้องการเปรียบเทียบ
ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มด้วย ซึ่งการวิเคราะห์เนื้อหาที่อิงกับการศึกษาเชิงปริมาณโดยการมองหา
คำที่ได้รับการกล่าวถึงซ้ำในทุกกลุ่มตัวอย่างอาจช่วยให้เห็นภาพรวมของความคิดและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุก
กลุ่มตัวอย่างได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงที่กลุ่มตัวอย่างต้องการสื่อสารออกมา ผู้วิจัยจะใช้การ
วิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึกโดยวิเคราะห์เนื้อหาถ้อยคำประกอบกับเหตุการณ์และท่าทีของผู้ให้สัมภาษณ์เพื่อให้
ทราบความหมายที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องการสื่อสารออกมาอย่างแท้จริงด้วย
72