Page 281 - kpi12821
P. 281
ณรงค์เดช สรุโฆษิต
2. ข้อควรพิจารณา
2.1 เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ: เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์
ขายเสียงอันเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบการเมืองไทย
หลักการยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและ
ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนี้ได้รับการบัญญัติขึ้นเป็น
ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อจัดการกับพรรคการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้ง โดยเฉพาะ
การซื้อเสียง อันเป็นสาเหตุของการคอร์รั่ปชั่น และเป็นวงจรอุบาทในระบบการเมือง
ไทย จึงจำเป็นต้องกำหนดสภาพบังคับไว้อย่างเข้มงวดเด็ดขาด เพื่อป้องปรามการ
22
กระทำความผิด ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญให้อรรถาธิบายไว้ในหลายคดีว่า
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ที่จะ
ให้การเลือกตั้งของประเทศเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี
บทบัญญัติป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดซื้อสิทธิ
ซื้อเสียงของประชาชนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งอันเป็นวิธีการที่นักการเมืองส่วนหนึ่ง
ใช้กันมานานจนเป็นความเคยชินแล้วกลายเป็นจุดเปราะบางทางการเมืองที่นัก
การเมืองผู้กระทำไม่รู้สำนึกว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง ทำให้การเมืองและ
ประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและก่อให้เกิด
ความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักการเมืองเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่อำนาจ
แล้ว ย่อมใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการทุจริตฉ้อราษฎร์
บังหลวงโดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพื่อให้
ได้อำนาจสำหรับแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อไป เป็นวัฏจักรที่เลวร้ายอย่างไม่มีที่
สิ้นสุด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้กำหนด
มาตรการป้องกันและกำหนดวิธีการลงโทษไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวดเพื่อป้องกัน
นักการเมืองที่ไม่สุจริตเหล่านี้ ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทาง
การเมือง และเพื่อส่งเสริมนักการเมืองที่ตั้งมั่นอยู่ในสุจริตธรรมให้ได้มีโอกาสทำ
ภารกิจอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนมากยิ่งขึ้น...” 23
22 โปรดดู บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 และ
รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 34/2550 (เป็นพิเศษ) วันอังคารที่ 26 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช
2550 ใน สมคิด เลิศไพฑูรย์, การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย หนังสือที่ระลึก 68 ปี รองศาสตราจารย์
นรนิติ เศรษฐบุตร, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2552) น. 43 – 59; แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุว่า ร่างรัฐธรรมนูญ
ฉบับรับฟังความคิดเห็น (คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 26 เมษายน 2550) ไม่ปรากฎเนื้อหาการยุบ
พรรคการเมืองและการตัดสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 237 นี้.
23 คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 96; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 14; คดีพรรคพลังประชาชน,
เรื่องเดิม, น. 20.