Page 12 - kpiebook63001
P. 12

บทคัดย่อ








                     งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้งสมาชิก
               สภาผู้แทนราษฎร 2562 จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาบรรยากาศทางการเมืองและ
               ความเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนของพฤติกรรมทางการเมือง แบบแผนพฤติกรรมทางการเมือง

               ของประชาชน และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้ง ผลการศึกษา พบว่า บรรยากาศการแข่งขัน
               และความเคลื่อนไหวทางการเมืองในการเลือกตั้งมีระดับการแข่งขันที่แตกต่างกันไปตามจำนวนของผู้สมัคร

               ที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมหาเสียงในรูปแบบต่างๆ ของผู้สมัครที่มีความเข้มข้น
               มากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต เป็นผลมาจากจำนวนผู้สมัครและพรรคการเมืองที่มีจำนวนมาก อีกทั้ง
               เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557  อย่างไรก็ดี แม้ว่าการใช้ระบบหัวคะแนนและ

               การซื้อเสียงในลักษณะต่างๆ ยังคงมีอยู่ แต่ปัจจัยเหล่านี้กลับมีอิทธิพลน้อยลงอย่างมากต่อการตัดสินใจ
               ลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  ในขณะที่การแข่งขันเชิงนโยบายและการเรียนรู้จากความขัดแย้งหรือการต่อสู้

               เชิงอุดมการณ์ที่ผ่านมากว่าทศวรรษ สภาวการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
               ความนิยมต่อการบริหารงานของรัฐบาลในขณะนั้น ไปจนถึงสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้น กลับเป็น
               ปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงมากต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชน  นอกจากการใช้รูปแบบและวิธีการหาเสียงต่างๆ

               ที่เป็นแนวปฏิบัติดั้งเดิมแล้ว การใช้อินเตอร์เนทและพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นพื้นที่ในการณรงค์
               หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและยังถูกนำมาใช้ในการ เชื่อมโยง ขยายและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย

               ในการบริหารจัดการการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วย

                     ด้านผลการเลือกตั้งแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงได้รับชัยชนะในพื้นที่เขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ในจังหวัด

               แต่คะแนนเสียงของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ลดลงและความสนใจที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองใหม่มีเพิ่ม
               มากขึ้นนั้น ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองของจังหวัดร้อยเอ็ดมีลักษณะของการเมืองแบบพื้นที่เปิดมากกว่า
               การผูกขาดความนิยมโดยพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดการเมืองหนึ่งดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจะส่งผล

               อย่างมากต่อการปรับตัวของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  รวมไปถึงแนวโน้มที่พรรคการเมือง
               จะมีบทบาทสำคัญในการสรรหาคัดเลือกและสนับสนุนการหาเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

               อันใกล้ ด้านข้อเสนอต่อการพัฒนาการจัดการเลือกตั้ง งานวิจัยนี้เสนอว่าควรให้ความสำคัญกับการสร้าง
               ความหลากหลายของคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง และการสร้างกลไกตรวจสอบการกระทำผิดในเชิงรุก
               ประกอบกับการปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้การตัดสินใจเลือกของประชาชนเป็นไปโดยเสรี และ

               ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม














                     การศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562 จังหวัดร้อยเอ็ด
   7   8   9   10   11   12   13   14   15   16   17