Page 5 - kpi21595
P. 5
บทคัดย่อ
รายงานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพลเมือง
ที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติการเสริมสร้างพลังพลเมืองในพื้นที่บูรณาการ 2) เพื่อศึกษาเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งเสริม
หรือขัดขวางต่อการสร้างความเป็นพลเมืองในระดับพื้นที่ โดยใช้วิธีการศึกษาแบบผสมผสาน (Mixed Method
Research) ขั้นตอนที่ 1 การวิจัยเชิงปริมาณดำเนินการกับกลุ่มประชากรในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนิน
โครงการปฏิบัติการเสริมสร้างพลังพลเมืองของสถาบันพระปกเกล้า โดยเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเชิงปริมาณ
คือแบบสอบถาม ซึ่งเก็บกับ 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มที่เข้ารับการอบรมโดยตรงกับสถาบันพระปกเกล้า จำนวน
147 คน และกลุ่มที่ไม่ได้รับการอบรมโดยตรงจากสถาบันพระปกเกล้าแต่คาดหวังว่าจะได้รับผลกระทบจาก
โครงการที่แกนนำพลเมืองดำเนินการ ซึ่งได้จากการสุ่มอย่างเป็นระบบจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จำนวน
1,000 คน สำหรับการศึกษาเชิงคุณภาพนั้นใช้การสัมภาษณ์อย่างมีโครงสร้างกับแกนนำพลเมืองและประชากร
ตัวอย่างในพื้นที่ขยายผล โดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง(Purposive Sampling) จำนวน 25 คน
ควบคู่กับการจัดสนทนากลุ่มผู้นำท้องที่ท้องถิ่นและการสำรวจแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ และ
ข้อบัญญัติท้องถิ่นของอำเภอเป้าหมาย การแปรผลใช้วิธีการทางสถิติหาค่าเฉลี่ย ทดสอบสหสัมพันธ์ และ
พรรณาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้ที่เข้ารับการอบรมโดยตรงจากสถาบันพระปกเกล้ามีคะแนนความเป็น
พลเมืองตระหนักรู้และกระตือรือร้นสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการอบรมโดยตรงจากสถาบันพระปกเกล้า 2) ปัจจัยที่
ขัดขวางต่อการสร้างความเป็นพลเมืองในระดับพื้นที่ประกอบด้วย ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลให้คนในชุมชน
ไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมต่อการสร้างรายได้มากนัก ปัจจัยทางด้านการเมืองที่ทำให้นักการเมือง
ท้องถิ่นเน้นดำเนินโครงการพัฒนาเชิงกายภาพมากกว่าการพัฒนาความรู้และสำนึกของคนในชุมชน และปัจจัย
ส่วนบุคคลภายในที่ทำให้คนในชุมชนไม่มีความสนใจต่อโครงการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะชนมาก
นัก ขณะที่ แกนนำพลเมืองแม้จะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงความเป็นพลเมือง
แต่ปฏิบัติการที่ผ่านมายังขาดประสิทธิภาพไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมากนัก ทำให้แกนนำ
พลเมืองยังไม่สามารถลดทอนข้อจำกัดของปัจจัยอื่นๆลงไปได้ ส่วนปัจจัยด้านสังคมนั้นพบว่ามีแนวโน้มที่จะ
ส่งเสริมต่อการตระหนักรู้และกระตือรือร้นของคนในชุมชนมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่อยู่ภายใต้การ
พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและเปิดรับอุดมการณ์เรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองเข้ามาในชุมชนเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้โครงการส่งเสริมความเป็นพลเมืองในอนาคตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นผู้วิจัยจึงมี
ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ 1) พัฒนาศักยภาพในการบูรณาการทฤษฎีสู่การปฏิบัติให้มากขึ้น 2) การสร้างความ
เป็นพลเมืองให้สอดคล้องกับสิ่งที่มีคุณค่าของแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม 3) เน้นกระบวนการมีส่วน
ร่วมเพื่อสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติ 4) ค้นหาและพัฒนาต้นทุนในชุมชนเพื่อนำมาต่อยอดแทนการผลักดัน
ทรัพยากรจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
คำสำคัญ: พลเมือง ระบอบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมือง ค