Page 19 - kpi15476
P. 19
1 การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15
ห้องย่อยที่ 2 การเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธี
ในด้านการเมืองการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักว่า
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย จะเป็น
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้ทรงเตรียมการนำประเทศเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ด้วยการสร้างกรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดิน และได้เตรียม
ร่างรัฐธรรมนูญไว้ 2 ฉบับ เพื่อจะพระราชทานในวาระฉลองพระนคร 150 ปี แต่ก็ต้องชะลอไว้
ด้วยพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่บางพระองค์เห็นว่ายังไม่เหมาะแก่เวลา และในที่สุดคณะราษฎรทำการ
เปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวที่ถูกคณะ
ราษฎรปฏิวัติยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์ทรงเห็นแก่ประชาราษฎรไม่อยากให้
เสียเลือดเนื้อจึงทรงยินยอมเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และได้ทรงบริหารจัดการ
วิกฤตการณ์ทางการเมืองให้กลุ่มพลังต่างๆในสังคมสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งรุนแรงไปสู่
ทางออกที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่เกิดความสูญเสียและสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่
จากการประหัตประหารกันเองของคนในชาติที่มีอุดมการณ์ความคิดความเชื่อทางการเมือง หรือ
แม้กระทั่งผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ประสบการณ์และวิธีคิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
ตลอดจนของบุคคลที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้นในการบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของ
บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังควรเรียนรู้และวิเคราะห์เปรียบเทียบ
กับเหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยต่อมา เพื่อหลีกเลี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย ในการ
ป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอีก
ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อย
1. ปัจจัยแห่งความสำเร็จและข้อท้าทายจากการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ทางการเมือง
ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและ/หรือผู้เกี่ยวข้องในช่วงเปลี่ยนแปลง
การปกครอง
2. การศึกษาเปรียบเทียบกรณีการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของไทยจากช่วง
เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ถึงปัจจุบัน
3. บทเรียนจากการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ห้องย่อยที่ 3 การสร้างรากฐานประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจหลายประการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแนวคิดค่านิยมและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
อันเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น ทรงวางรากฐานด้าน
การศึกษา ผ่านการดำเนินการของกระทรวงธรรมการ ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังคุณธรรม
จริยธรรมและค่านิยมอันดีแก่เยาวชน รวมไปถึงทรงส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสปกครอง
ตนเองในรูปแบบเทศบาล (Municipality) โดยโปรดเกล้าฯให้ยกร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น