Page 18 - kpi15476
P. 18
สาระสำคัญและประเด็นหลักในการประชุมกลุ่มย่อย
KPI Congress 15
ธรรมราชา
(Dharmarãjã)
การประชุมกลุ่มย่อยแบ่งออกเป็น 5 ห้อง ดังนี้
ห้องย่อยที่ 1 แนวคิดธรรมราชากับราชาปราชญ์ (Philosopher King)
แนวคิดเรื่อง “ธรรมราชา” เป็นเรื่องที่มีการศึกษาค้นคว้าทั้งในสังคม
อินเดียและจีน ในสังคมอินเดียสามารถสืบค้นไปได้ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
และมีความน่าสนใจที่จะนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดเรื่อง ราชาปราชญ์
ทางตะวันตกของเพลโต ว่าแนวความคิดทั้งสองมีความเหมือนหรือความแตกต่าง
กันอย่างไร ธรรมราชามีความหมายตามคำแปลว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรง
ทำให้ประชาชนสุขใจโดยธรรม” เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยและ
ประเทศอื่นๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ ทศพิธราชธรรมได้กลายเป็นหลักปฏิบัติ
อย่างขาดเสียมิได้ของผู้ปกครองไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นต้นมา เพื่อป้องกันการ
ใช้อำนาจที่เกินขอบเขตหรือไม่เป็นธรรมของผู้ปกครอง ในทำนองเดียวกันกับที่
ยึดถือกันในแถบยุโรปมาช้านานว่า ผู้ปกครองย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ
จะกระทำการใดโดยปราศจากเครื่องกำกับ เหนี่ยวรั้งหรือยับยั้งชั่งใจมิได้ แม้แต่
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เชื่อกันว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่
ประชาชนก็ยังยอมรับความสำคัญของการมีผู้นำหรือผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติที่ดี
หรือน่าสรรเสริญ ในการทำให้ความแตกต่างหลากหลายในผลประโยชน์และ
ความต้องการของปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างๆ สามารถลงรอยกันได้ และทำให้
การปกครองมีความก้าวหน้า
ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อย
1. แนวคิดธรรมราชาในการเมืองการปกครองของโลกตะวันออก
2. ความสำคัญของการใช้คุณธรรมความดีเป็นเครื่องกำกับการใช้อำนาจ
ของผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยตะวันตก
3. ความเหมือนและความต่างของแนวคิดทั้งสอง และการนำมาประยุกต์
ใช้ในสังคมไทย