Page 113 - kpi12626
P. 113
102 การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:
คู่มือสำหรับนักบริหารงานท้องถิ่นในยุคใหม่
เมื่อเป็นเช่นนี้ การกำหนดนโยบายในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับ
การจัดบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นอาจต้องมุ่งไปที่การยกระดับความ
เพียงพอของการจัดบริการของท้องถิ่นในพื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัดในด้านนี้ และ
ควรเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างเร่งด่วนต่อไป เงื่อนไขสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ
ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดที่มีข้อจำกัดเหล่านี้
ไม่อาจนิ่งนอนใจโดยการใช้แนวนโยบายในการจัดบริการสาธารณะดังเช่น
ที่เคยเป็นมา หากแต่จำเป็นต้องเร่งการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
เพิ่มมากขึ้นต่อไป
พึงระลึกว่าการพิจารณามูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและระดับ
รายจ่ายรวมต่อประชากรอาจมีข้อจำกัดในการตีความได้อย่างน้อย
2 ประการดังที่ได้อภิปรายไว้แล้วข้างต้น ประการแรก การมีระดับรายจ่าย
ต่อประชากรสูงอาจเป็นเพราะตัวเลขดังกล่าวมีสัดส่วนของรายจ่ายประจำ
หรือรายจ่ายเพื่อการบริหารทั่วไปในสัดส่วนที่สูง รายจ่ายเพื่อการจัดบริการ
โดยตรงที่ตกถึงมือประชาชนอาจมิได้มีสัดส่วนที่สูงตามไปด้วย ประการต่อมา
ระดับรายจ่ายต่อประชากรอาจมีความผันแปรตามจำนวนประชากรและ/
หรือขนาดชุมชน กล่าวคือในกรณีที่ชุมชนมีขนาดหรือมีจำนวนประชากรที่
เหมาะสม การมีตัวเลขรายจ่ายต่อประชากรในระดับต่ำอาจหมายถึงขนาด
ของการผลิตบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ (หรือได้ Economy of Scale)
ในกรณีเช่นนี้ ตัวเลขรายจ่ายที่ต่ำอาจมิได้หมายความว่าท้องถิ่นนั้นๆ จัด
บริการให้ไม่เพียงพอหรือด้อยไปกว่าชุมชนท้องถิ่นอื่นก็เป็นได้
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่ามูลค่าสินทรัพย์ถาวรของ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันยังมิได้มีการปรับค่าเสื่อมราคา อีกทั้ง
สินทรัพย์ถาวรอีกหลายประเภทมิได้มีการบันทึกไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สิน
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อาทิ ถนน รางระบายน้ำ ฯลฯ) ตัวเลขมูลค่า
สินทรัพย์ถาวรของท้องถิ่นแต่ละแห่งจึงอาจสื่อความหมายที่คลาดเคลื่อนได้
ดังนั้น การตีความถึงความเพียงพอของการให้บริการสาธารณะดังที่นำเสนอ
ในข้างต้นจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และควรมีการพิจารณาข้อมูล