Page 51 - kpi12626
P. 51
0 การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:
คู่มือสำหรับนักบริหารงานท้องถิ่นในยุคใหม่
เมื่อได้คำนวณค่าดัชนีชี้วัดต่างๆ ครบเรียบร้อยทั้ง 4 ด้านแล้วนั้น
ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนั้นจะต้องร่วมกันประเมินว่า
สภาพคล่องทางการเงินขององค์กรในด้านต่างๆ อยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก
น้อยเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น หากพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้มี
ค่าของอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเท่ากับ 3.0 เท่า ในขณะที่เทศบาลกลุ่ม
ตัวอย่างโดยเฉลี่ยมีค่าอัตราส่วนดังกล่าวประมาณ 7.2 เท่า (ค่า Mean)
หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้มีสภาพคล่องทางการเงินใน
ระยะสั้นที่ค่อนข้างต่ำและอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงว่าอาจจะไม่สามารถ
ชำระหนี้หรือภาระผูกพันในระยะสั้นได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ค่าอ้างอิง
เปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 (มีค่าเท่ากับ 3.15 เท่า) ยังชี้ให้เห็นว่าเทศบาลกลุ่ม
ตัวอย่างราวร้อยละ 75 มีค่าอัตราส่วนทุนหมุนเวียนที่สูงกว่าค่าอัตราส่วน
ทุนหมุนเวียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้ ดังนี้เป็นต้น
เมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลอัตราส่วนชี้วัดสภาพคล่องด้านต่างๆ ครบถ้วน
ทั้ง 4 ประการแล้ว ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรตรวจสอบ
ดูว่าในภาพรวมขององค์กรนั้น (1) สภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นมี
ปัญหาตึงตัวหรือไม่ เกิดจากสาเหตุหรือปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเช่นใด
เกิดจากแนวนโยบายการบริหารงานหรือการใช้จ่ายงบประมาณที่ผิดพลาด
หรือไม่ และ (2) ท้องถิ่นจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องด้วยการจัดเก็บภาษี
ท้องถิ่นหรือรายได้ประเภทใหม่ๆ เช่น ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม รายได้จาก
การลงทุนในทรัพย์สินของท้องถิ่น ฯลฯ เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ สามารถชะลอการ
ใช้จ่ายหรือการก่อหนี้ผูกพันที่ไม่จำเป็นลงได้หรือไม่ ดังนี้เป็นต้น
ในทางกลับกัน หากพบว่าสภาพคล่องทางการเงินขององค์กรสูง
เกินไป อาจหมายความได้ว่าท้องถิ่นแห่งนั้นยังมิได้จัดบริการสาธารณะให้แก่
ประชาชนมากเท่าที่ควร ทั้งนี้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าองค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นมิใช่สถาบันทางการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ หากแต่
เป็นหน่วยการจัดบริการสาธารณะที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
การที่ท้องถิ่นมีเงินสดหรือเงินฝากเก็บไว้นิ่งๆ เป็นจำนวนมากย่อม