Page 256 - kpi15476
P. 256
การเปลี่ยนผ่านสู่ความกลมกลืน
ระหว่างประชาธิปไตยกับราชาธิปไตย
โคทม อารียา*
คำกล่าวนำ
ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาแปดสิบเอ็ดปี แต่ก็
ลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการรัฐประหาร 16 ครั้ง และการมี
รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ อับราฮัม ลิงคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคย
1
กล่าวว่า “ประชาธิปไตยคือรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุด
ของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “ให้มีบุคคล และคณะบุคคล
ดังจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ
คือ 1. กษัตริย์ 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล ครั้นถึง
เดือนธันวาคมในปีเดียวกัน มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามขึ้น
ซึ่งบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์
เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” สังเกตได้ว่า
บทบัญญัติใหม่นี้มีนัยการแสวงความสมดุลระหว่างราชาธิปไตยกับประชาธิปไตย
แบบตัวแทน โดยปวงชนเลือกตั้งตัวแทนไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและ “พระมหากษัตริย์
ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร” และ
“ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี” ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญ
กลับมาบัญญัติว่า “อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ซึ่งมีนัยว่าเป็นประชาธิปไตย
ของประชาชนผ่านการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่แต่เฉพาะในการลงคะแนนเสียง
เลือกตั้งเท่านั้น อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ายังมีความไม่ชัดเจนอยู่ในเรื่องความ
สมดุลระหว่างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับราชาธิปไตย
“การมีส่วนร่วม” เกิดขึ้นไม่แต่เฉพาะตามครรลองปกติ หากรวมไปถึง
การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการต่อต้านรัฐประหาร จนเกิดเหตุการณ์นองเลือด
ในปี พ.ศ. 2516, 2519, 2535 และ 2553 นอกจากนั้น ได้มีการมีส่วนร่วม
แบบถึงรากโคน (radical) โดยมีการชุมนุมยืดเยื้อติดต่อกันหลายเดือน ในปี
พ.ศ. 2548-9 และ 2551 ซึ่งจัดโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
(พันธมิตรฯ) และในปี พ.ศ. 2552-3 ซึ่งจัดโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน
* สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
1 อเล็กซ์ วูลฟ์ เขียน โคทม อารียา และแก้วฤทธรา วิริยะวัฒนา แปล, 2555; ระบอบ
การปกครอง: ประชาธิปไตย; กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ปาเจรา, หน้าปก