Page 334 - kpi15476
P. 334
แนวโน้มและข้อจำกัดของการเสริมสร้าง
ธรรมาภิบาลในระบบราชการไทย
รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์*
ความนำ
ความพยายามในการที่จะปฏิรูปการเมืองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นเครื่องมือหรือแนวปฏิบัติที่สำคัญ และ
ปัญหาวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2540 ถือเป็นเงื่อนไข
สำคัญที่ทำให้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ได้รับการหยิบยกขึ้นมา
กล่าวถึงและพยายามนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยกันอย่างกว้างขวาง
(สถาบันพระปกเกล้า 2549 : 9) ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในมิติทางด้านการเมือง
หลักธรรมาภิบาล ถือเป็นหลักการที่มีส่วนในการเกื้อหนุนการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตย กล่าวคือ หากได้มีการนำมาปรับใช้อย่างจริงจังแล้ว ย่อมจะช่วย
ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานภาครัฐ (สถาบันพระปกเกล้า 2549 :
10-11) หรือในมิติด้านเศรษฐกิจ มีการมองกันว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของ
ไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2540 นั้น ส่วนหนึ่งแล้วเป็นผลสืบเนื่องจากความ
เลวร้ายทางการปกครอง (bad governance) รวมถึงการบริหารจัดการที่
ผิดพลาด (mismanagement) (จรัส สุวรรณเวลา 2546 : 21) ดังนั้น หากคิด
จะป้องกันมิให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้อีก ย่อมจำเป็นต้องสร้างกลไกหรือ
กระบวนการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance ) ทั้งในภาครัฐและเอกชน
นอกจากนั้นแล้วหลักธรรมาภิบาลยังได้รับการผลักดันให้มีการนำมาปรับ
ใช้กับประเทศไทยผ่านทางองค์การระหว่างประเทศต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือใน
ด้านการเงินและอื่นๆแก่ประเทศไทยในช่วงหลังปี พ.ศ. 2540 อย่างต่อเนื่อง
(สถาบันพระปกเกล้า 2549 : 10-11) ส่งผลให้แนวคิดธรรมาภิบาลมิได้ปรากฏ
ให้เห็นแต่เพียงในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่แนวคิดดังกล่าวยังได้แทรกซึมลงไปใน
ระดับกระบวนการในการทำงานของกลไกระบบราชการด้วย ดังจะเห็นได้จาก
การปฏิรูปโครงสร้างและแนวทางในการบริหารงานของระบบราชการไทยในช่วง
หลังปี พ.ศ. 2540 กรอบแนวคิดธรรมาภิบาลได้กลายเป็นกรอบแนวคิดสำคัญ
หนึ่งที่ถือเป็นแนวทางในการปฏิรูประบบราชการของไทย (ดูเพิ่มเติมจากสรุป
ปาฐกถาของ เฉลิม ศรีผดุง 2546 : 8-9)
* คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์