Page 338 - kpi15476
P. 338
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 33
เป็นความพยายามที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและค่านิยมของการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตย จาก “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)” ไปสู่
“ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)” ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ตัวประชาชน
โดยการให้หลักประกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่กว้างขวาง รวมถึงการมีส่วนร่วมของ
ประชาชนในกระบวนการทางการเมือง โดยมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการ
ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงช่องทางอื่นๆด้วย เช่น การร่วมให้ความเห็นในการ
ดำเนินโครงการสำคัญๆของรัฐ การริเริ่มเสนอกฎหมายที่ประชาชนอาจเห็นว่ามีความสำคัญ
การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
นอกจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและค่านิยมเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว
ความพยายามเสริมสร้างธรรมาภิบาลที่เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2540 ยังรวมถึงการสถาปนาองค์กรของรัฐที่มีสถานะเป็น “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”
อีกหลายองค์กร ซึ่งรัฐธรรมนูญมีจุดมุ่งหมายให้กระบวนการใช้อำนาจรัฐมีความชอบธรรมมากขึ้น
สามารถถูกตรวจสอบ และช่วยให้เกิดความโปร่งใส อันได้แก่ กลไกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นอกจากจะออกแบบระบบการตรวจสอบ
และกำกับการใช้อำนาจรัฐแล้วที่เข้มข้นมากขึ้นแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมความเข้มแข็งและ
ความมีเสถียรภาพให้แก่ฝ่ายการเมืองซึ่งหมายถึงรัฐบาลที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการประเทศ
อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากโดยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พยายามแยกโครงสร้างของ
ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันอย่างชัดเจน ดังที่ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 204 ว่า
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในเวลาเดียวกัน
มิได้ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 : มาตรา 204) ความพยายามในการสร้าง
เสถียรภาพให้กับรัฐบาลยังสามารถพิจารณาได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติให้กระบวนการ
ในการตรวจสอบรัฐบาลโดยฝ่ายนิติบัญญัติอาจทำได้ไม่ง่ายนัก กล่าวคือ หากสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฎรมีความประสงค์ที่จะเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องมีเสียง
ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
ในการขอยื่นญัตติ รวมทั้งต้องมีการเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
คนต่อไปมาพร้อมกับญัตติด้วย (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 : มาตรา 185)
และในกรณีของการเสนอญัตติอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ก็ยังจำเป็น
ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากถึงหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 : มาตรา 186) ซึ่งในกรณีทั้งสองนี้ ต้องถือว่า
ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่ารัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในรัฐสภาอยู่มากด้วยแล้ว กระบวนการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลย่อมสามารถกระทำ
ได้ยาก ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย