Page 96 - kpi15476
P. 96
ธรรมราชากับคุณธรรมของผู้ปกครอง
ในระบอบประชาธิปไตย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ปรีชา ช้างขวัญยืน*
คำว่า ธรรมราชา ที่กล่าวถึงในความคิดทางการเมืองตะวันออก เป็นคำที่มี
ปรากฏในพระไตรปิฎกดังนี้
“ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา
ทรงอาศัยธรรมนั่นเองสักการะ เคารพ นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย
มีธรรมเป็นตราชู เป็นธรรมาธิปไตย จัดการรักษาคุ้มครองป้องกัน
อันชอบธรรม แก่ภิกษุ...ภิกษุณี...อุบาสก...อุบาสิกาทั้งหลาย โดยนัยว่า
กายกรรม...วจีกรรม...มโนกรรม...อาชีวะ...คามนิคม อย่างนี้ควรเสพ
อย่างนี้ไม่ควรเสพ” (องฺ.ปญฺจก. 22/133/168)
ในด้านทฤษฎีการเมืองตะวันออกมักนำไปเปรียบเทียบกับเทวราชา
ในกรณีของไทยมักโยงกับศาสนาคือ เทวราชาสืบมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู
ที่เป็นศาสนาสำคัญในอาณาจักรขอมโบราณ และขอมเป็นแบบอย่างของการ
ปกครองแบบเทวราชา แต่เทวราชานี้ก็ไม่เหมือนกับเทวราชาในลัทธิเทวสิทธิ์ของ
ตะวันตก ที่ถือว่าสิทธิในการปกครองของพระราชามาจากการที่พระเจ้า
มอบอำนาจให้พระราชาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ในศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้น
พระราชามีส่วนแห่งเทพหลายองค์รวมกันอยู่ในพระองค์
“พระองค์คือพระอัคนีและพระพาย พระองค์คือพระอาทิตย์และ
พระจันทร์ คือราชาแห่งความยุติธรรม พระองค์คือท้าวกุเวร คือพระวรุณ
คือความเกรียงไกรแห่งอินทรเทพ
แม้ทรงพระเยาว์ พระราชามิใช่ผู้ที่ใครจักดูหมิ่นว่าเป็นปุถุชน
เหตุเพราะพระองค์คือเทวอำนาจที่อยู่ในมนุษยรูป” (Burnell, VII, 7-8)
“พระราชาพึงยังความเจริญรุ่งเรืองและมีความประพฤติแห่ง อินทร
อรรกะ วายุ ยม วรุณ จันทร อัคนิ และปฤถิวี
องค์อินทรเทพประทานฝนแก่มนุษยตลอด 4 เดือนแห่งฤดูฝน
ฉันใด พระราชาพึงปฏิบัติกฎแห่งอินทรโดยแผ่พระการุณยภาพแก่
ประชาชนในแว่นแคว้นของพระองค์อย่างทั่วถึง
* ผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย