Page 70 - kpiebook62010
P. 70

63






               ที่ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมนอกจากนั้นยังมีการประกอบอาชีพในบางกรณีที่ต้องมีการฆ่าสัตว์ เช่น การประมง

               ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ทบทวนหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใหม่ โดยกำหนดให้ใช้บังคับเฉพาะกับ
               สัตว์เลี้ยงในเบื้องต้น และให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดชนิดสัตว์ที่จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้ต่อไป


                             ในการประชุมครั้งที่ 13 วันที่ 20 เมษายน 2553 ฝ่ายเลขานุการจึงได้เสนอบทนิยามสัตว์ใหม่
               ให้หมายถึงเฉพาะสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ ซึ่งกรณีนี้อาจรวมถึงสัตว์ป่าที่อยู่ภายใต้

               การควบคุมของมนุษย์ด้วย แต่ไม่รวมถึงสัตว์ป่าและสัตว์น้ำหรือสัตว์อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่
               เป็นสัตว์ป่าที่เพาะพันธุ์ได้หรือสัตว์น้ำที่ครอบครองได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ
               พันธุ์พืชชี้แจงว่า สัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์และครอบครองได้ตามกฎหมายจะมีหลักเกณฑ์ที่กำหนด
               ในเรื่องการจัดสวัสดิภาพไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ส่วนผู้แทนกรมประมงชี้แจงว่า สัตว์น้ำบางประเภทเป็นสัตว์ป่า

               ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าด้วย จึงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุม
               จึงเห็นชอบให้ตัดข้อยกเว้นสำหรับสัตว์ป่าและสัตว์น้ำออก โดยให้สัตว์ทั้งสองประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับของ
               กฎหมายเฉพาะและไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้


                     4.3.3  การกระทำที่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์และข้อยกเว้น

                             มาตราที่ถือเป็นหลักในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ อยู่ในมาตรา 20 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้

               ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร” แต่มาตรา 20 มิได้กำหนดว่าการทารุณกรรม
               สัตว์นี้ได้แก่การกระทำอย่างไร จึงต้องย้อนไปพิจารณาจากบทนิยามในมาตรา 3 ที่ว่า “การทารุณกรรม”
               หมายความว่า “การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกาย

               หรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความ
               รวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบ
               กามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรือ

               อ่อนอายุ”

                             จะเห็นได้ว่า การทารุณกรรมสัตว์ตามบทบัญญัติของมาตรา 20 ประกอบมาตรา 4 นั้นประกอบ

               ด้วยสองส่วน คือส่วนแรก ที่วางหลักไว้กว้างๆว่า การทารุณกรรมสัตว์นั้น หมายถึงการกระทำหรืองดเว้นการ
               กระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย
               ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย


                             และส่วนที่สองที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ให้ถือเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์โดยผลของกฎหมายซึ่งมี
               อยู่สามประการ ได้แก่ (1) การใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์

               (2) ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ และ (3) ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้น
               เจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ


                             สำหรับข้อยกเว้นที่ไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์นั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 21 มีด้วยกัน
               11 ประการ ดังนี้










                       ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
   65   66   67   68   69   70   71   72   73   74   75