Page 76 - kpiebook62010
P. 76
69
4.3.5 สภาพบังคับตามกฎหมาย
สภาพบังคับตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แก่การกำหนดความผิดทางอาญาให้แก่ผู้ที่ฝ่าฝืน ซึ่งมี
4 กรณี ได้แก่
(1) ผู้ที่กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 31)
(2) เจ้าของสัตว์หรือผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตาม
ประกาศของรัฐมนตรี มีโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท (มาตรา 32)
(3) เจ้าของสัตว์หรือผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสวัสดิภาพสัตว์
ในกรณีของการขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง ตามประกาศของรัฐมนตรี มีโทษปรับ
ไม่เกินสี่หมื่นบาท (มาตรา 32)
(4) เจ้าของสัตว์ที่ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุ
อันสมควร มีโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท (มาตรา 32)
นอกจากนี้ มาตรา 33 ยังกำหนดถึงวิธีการจัดการกับสัตว์ที่ได้มีการกระทำความผิด ได้แก่ สัตว์ที่
ถูกกระทำทารุณกรรม หรือสัตว์ที่ไม่ได้รับการจัดสวัสดิภาพที่เหมาะสมตามประกาศของรัฐมนตรี ว่าให้ศาลอาจใช้
ดุลยพินิจ ในกรณีที่เห็นว่าการให้สัตว์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของหรือของผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป
สัตว์นั้นอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมอีก ศาลอาจสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือ
ผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็น
ผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นต่อไป
มีข้อสังเกตว่า บทบัญญัตินี้คล้ายกับหลักเรื่องการริบทรัพย์สินที่ได้มาหรือมีไว้เพื่อการกระทำ
ความผิด แต่เนื่องจากสัตว์ที่มีการกระทำความผิดนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต จึงต้องมีวิธีการจัดการกับสัตว์ที่อาจถือเป็น
“ของกลาง” ในคดีด้วยวิธีพิเศษที่แตกต่างจากเรื่องการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญาตามปกติ
ส่วนมาตรา 35 กำหนดให้อำนาจอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ
ในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว (ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มาตราเดียว คือ มาตรา 32) โดยการ
เปรียบเทียบปรับนี้ หากผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาอันสมควรแต่ไม่เกิน
สิบห้าวัน ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอม
ตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะถูกดำเนินคดีต่อไป
อนึ่งกรณีความผิดอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ หากการกระทำความผิดอยู่ในพื้นที่ใดมีศาลแขวง
ก็จะเป็นอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาคดีเนื่องจากถือเป็นคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้
จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557