Page 81 - kpi12626
P. 81
0 การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:
คู่มือสำหรับนักบริหารงานท้องถิ่นในยุคใหม่
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลฐานะทางการเงินในด้านความยั่งยืนทาง
งบประมาณสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถทาง
การเงินและการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองท้องถิ่นไทยอย่างน้อย
2 ประการ ประการแรก การเสริมสร้างความยั่งยืนทางงบประมาณสำหรับ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่และท้องถิ่นในภูมิภาคที่ประสบปัญหา
เฉพาะโดยการช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็น
สิ่งที่มีความจำเป็นยิ่ง โดยที่รัฐบาลหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอาจให้ความ
ช่วยเหลือทางการเงินในระยะสั้นแก่ท้องถิ่นขนาดใหญ่เหล่านี้หรือท้องถิ่น
ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาเฉพาะ เพื่อให้การจัดบริการสาธารณะไม่สะดุดหรือ
ขาดตอนลง การเตรียมการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้นับว่ามีความ
สำคัญมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทยผูกติดอยู่กับระบบ
เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใน
ต่างประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและการบริหารการ
เงินการคลังของรัฐบาลไทยโดยตรง และย่อมส่งผลต่อเนื่องถึงระบบ
เศรษฐกิจการคลังในระดับท้องถิ่นได้ตามมา
ประเด็นต่อมา ข้อมูลจากการวิเคราะห์ความยั่งยืนทางงบประมาณ
ชี้ให้เห็นว่าเทศบาลส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะเพิ่มการให้บริการสาธารณะให้มากขึ้น
ได้อีกราวร้อยละ 16 โดยเฉลี่ยจากระดับของบริการที่ดำเนินการอยู่ใน
ปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากยังมีงบประมาณคงเหลือที่ยังมิได้เบิกจ่ายเป็นจำนวน
มากในแต่ละปี (ดูจากค่าอัตราส่วนการดำเนินงานและขนาดของเงินสะสม
ของเทศบาลโดยเฉลี่ย) ในประเด็นนี้ ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ควรพิจารณาในเชิงลึกว่าองค์กรของตนเองจะสามารถ (1) เพิ่มระดับการให้
บริการสาธารณะมากขึ้นได้หรือไม่ (2) เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพา
ตนเองทางการเงินการคลังและการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นมากขึ้นได้หรือไม่ หรือ
จะสามารถ (3) นำเงินสะสมที่จัดเก็บไว้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของ
ประชาชนหรือในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้นได้หรือไม่
ประเด็นในเชิงนโยบายต่างๆ ที่จะได้รับจากการวิเคราะห์ความยั่งยืนทาง
งบประมาณเหล่านี้ย่อมมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในชุมชนท้องถิ่นไม่มากก็น้อย และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารท้องถิ่นและภาค
ประชาสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป