Page 97 - kpi12626
P. 97

การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:


          คู่มือสำหรับนักบริหารงานท้องถิ่นในยุคใหม่
                      ประเด็นเชิงนโยบายที่มีความสำคัญในที่นี้ก็คือจังหวัดส่วนใหญ่ที่
                เทศบาลมีภาระหนี้ระยะยาวโดยเฉลี่ยในสัดส่วนที่สูงกว่าที่อื่นๆ จะกระจุกตัว

                อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายแดนของประเทศ ซึ่งส่วนมาก
                จังหวัดเหล่านี้มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จำกัดกว่าที่อื่นๆ อาทิ
                สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และรวมถึง
                หนองบัวลำภู ข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่ประเด็นคำถามในเชิงนโยบายและใน
                เชิงการบริหารจัดการที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันค้นหาสาเหตุที่ชัดเจน

                ว่าทำไมเทศบาลในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้จึงมีภาระหนี้ระยะยาวในสัดส่วนที่สูง
                กว่าพื้นที่อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่เทศบาลในจังหวัดเหล่านี้มี
                การพัฒนาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในระดับที่ด้อยกว่าเทศบาล
                ในจังหวัดอื่นๆ เทศบาลเหล่านี้จึงต้องการเร่งพัฒนา (catch up) ในด้าน
                ดังกล่าวโดยการก่อหนี้ผูกพันในสัดส่วนที่สูงมากขึ้นตามมา หากข้อเท็จจริง
                เป็นเช่นนี้แล้ว ภาระหนี้ระยะยาวในสัดส่วนที่สูงของเทศบาลในกลุ่มจังหวัด

                เหล่านี้ก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่ต้องกังวลแต่ประการใด เพราะวัตถุประสงค์ของการ
                ก่อหนี้ในระยะยาวมีเหตุมีผลรองรับอย่างชัดเจน

                      อย่างไรก็ดี หากทำการวิเคราะห์แล้วพบว่าสัดส่วนของภาระหนี้ใน
                ระยะยาวที่สูงของเทศบาลในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความหย่อน
                ยานในการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของเทศบาล หรือเกิดจากความ
                เพิกเฉยของส่วนงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการก่อหนี้ของเทศบาล ในกรณี

                เช่นนี้ก็จะต้องมีการกำหนดนโยบายที่เคร่งครัดมากขึ้นในการก่อหนี้ระยะยาว
                ของเทศบาลในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้วัตถุประสงค์ของการก่อ
                หนี้ในระยะยาวของเทศบาลก่อให้เกิดภาระผูกพันทางการเงินโดยไม่จำเป็น
                อันจะเป็นการบั่นทอนฐานะทางการเงินของเทศบาลและขีดความสามารถใน
                การจัดบริการสาธารณะในอนาคตได้
   92   93   94   95   96   97   98   99   100   101   102