Page 130 - kpi15476
P. 130
มหาราช, ราชาปราชญ์, ธรรมราชา,
และราชาผู้ทรงภูมิธรรม:
แนวคิดและการประยุกต์ใช้ 1
ไชยันต์ ไชยพร 2
บทคัดย่อ
บทความนี้สำรวจในระดับเบื้องต้นและพอเป็นสังเขปเท่านั้นถึงที่มาของ
แนวความคิดเกี่ยวกับผู้ปกครองตั้งแต่โบราณก่อนคริสตกาลจนถึงสมัยใหม่ใน
ช่วงยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) ทั้งตะวันตกและตะวันออก
อันได้แก่ แนวคิดเรื่องความเป็นมหาราช ธรรมราชา ราชาปราชญ์ (Sage-King)
ของขงจื่อและราชาปราชญ์ (Philosopher-King) เพลโต และ “กษัตริย์ผู้ทรง
ภูมิธรรม” (the Enlightened Absolutism/King/Despot/Despotism) โดย
เน้นศึกษา อธิบาย วิเคราะห์และวิพากษ์แนวความคิดเรื่อง “กษัตริย์ผู้ทรงภูมิธรรม”
ด้วยเหตุผลที่ว่า แนวความคิดดังกล่าวนี้กำเนิดขึ้นในบริบทสมัยใหม่และสามารถ
นำมาใช้ได้ผลสอดคล้องกับยุคสมัยทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติในการ
ประเมินตัวผู้ปกครองหรือพระมหากษัตริย์มากกว่าแนวคิดโบราณ อีกทั้งได้ชี้ให้
เห็นถึงข้อจำกัดในการประยุกต์ใช้แนวความคิดดังกล่าว พร้อมกับได้มีข้อเสนอใน
การให้ความสำคัญกับคุณสมบัติทางความรู้และคุณธรรมของประชาชนและ
นักการเมืองในระบอบการปกครองสมัยใหม่ และชี้ให้เห็นถึงความไม่จำเป็นต้อง
คาดหวังให้ประชาชนและนักการเมืองต้องมีคุณสมบัติอันประเสริฐดังกล่าว หาก
หลักการและแบบแผนของระบอบการปกครองนั้นไม่เปิดให้มีผู้ใดสามารถครอง
อำนาจสมบูรณ์สูงสุดได้ ซึ่งหลักการและแบบแผนของระบอบการปกครอง
ดังกล่าวนี้ก็คือ หลักการแห่งรูปแบบการปกครองแบบผสม (mixed constitution)
นั่นเอง
1 เอกสารประกอบการอภิปรายกลุ่มย่อยที่ 1 : “แนวคิดธรรมราชากับราชาปราชญ์” การ
ประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 ประจำปี 2556 เรื่อง “ธรรมราชา” ระหว่างวันที่
8-10 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
2 รองศาสตราจารย์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย