Page 182 - kpi15476
P. 182
ธรรมราชาในปรัชญาจีน
รศ. ดร.นิยม รัฐอมฤต*
บทคัดย่อ
ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและการทำสงครามผนวกดินแดนของจีนเมื่อ
2000 กว่าปีที่แล้ว ผู้ปกครองรัฐมักบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและใช้อำนาจ
ความรุนแรงกระทำต่อประชาชน ขงจื่อและเมิ่งจื่อเป็นนักคิดที่มีชีวิตอยู่ในยุคแห่ง
ความไม่สงบนั้น พยายามโน้มน้าวให้ผู้ปกครองรัฐต่างๆ ใช้หลักคุณธรรมปกครอง
บ้านเมืองแทนที่การใช้กำลังและอำนาจเผด็จการกระทำต่อประชาชน
หลักคุณธรรมที่ขงจื่อนำเสนอสำหรับผู้คนในสังคมโดยทั่วไป โดยเฉพาะ
ผู้ปกครองบ้านและเมืองจะต้องมีคือคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมหลักๆ
5 ประการ ได้แก่ 1. มนุษยธรรม 2. ความยุติธรรม 3. จารีตธรรม 4. ปัญญาธรรม
และ 5. ศรัทธาธรรม ขงจื่อเห็นสาเหตุของสงครามมาจากมนุษย์ขาดความรัก
ต่อกัน เห็นแก่ได้ เห็นแก่ประโยชน์ มากกว่าความถูกต้องชอบธรรม ทางแก้ไข
คือจะต้องฟื้นฟูจารีตประเพณีอันดีงามที่เคยมีมาในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก
แต่ละคนทำหน้าที่ของตน ราชาทำหน้าที่ของราชา เสนาบดีทำหน้าที่ของ
เสนาบดี บิดาทำหน้าที่ของบิดา บุตรทำหน้าที่ของบุตร สังคมก็จะกลับเข้าสู่
ความสงบเรียบร้อย
เมิ่งจื่อเห็นด้วยกับการใช้หลักคุณธรรมปกครองบ้านเมือง และได้พัฒนา
หลักการปกครองโดยมนุษยธรรม โดยพยายามตอบคำถามหลายคำถาม ได้แก่
1. ธรรมชาติของมนุษย์ดีหรือร้าย 2. อะไรคือเป้าหมายของการปกครอง
3. อะไรคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของระบบการปกครอง 4. ความสัมพันธ์
ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนควรอยู่ในลักษณะใด 5. ในกรณีผู้ปกครองไม่รับ
ผิดชอบต่อหน้าที่ ประชาชนมีอำนาจหรือสิทธิทำอะไรได้บ้าง
คำตอบของเมิ่งจื่อคือ ธรรมชาติของมนุษย์ดี ไม่ดีเกิดจากสิ่งแวดล้อมบีบ
บังคับ เป้าหมายของการปกครองคือเพื่อประชาชน ผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลและ
รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ในการปกครององค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ
ประชาชน โดยเฉพาะความไว้วางใจของประชาชนต่อผู้ปกครอง ในแง่ของความ
สัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ผู้ปกครองมีหน้าที่คุ้มครองประชาชน
ดุจพ่อแม่มีหน้าที่ดูแลลูก ในกรณีผู้ปกครองไม่ทำหน้าที่ ทอดทิ้งประชาชน
ประชาชนมีอำนาจโค่นล้มผู้ปกครองได้ เพราะเป้าหมายของการปกครองคือ
ประชาชนนั่นเอง
* ผู้อำนวยการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า