Page 198 - kpi15476
P. 198
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 19
คำว่า ธรรมราชา และราชาปราชญ์นั้น หากมองโดยผิวเผินแล้ว หลายคนอาจคิดว่า คำดังกล่าว
มีความหมายที่เหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะคำทั้งสองประกอบไปด้วยคำว่า “ราชา” เช่นเดียวกัน
และเราก็มักจะใช้ยินคำว่า “ธรรม” และคำว่า “ปราชญ์” ในบริบทของกล่าวถึงพระมหากษัตริย์
ในลักษณะของการเทิดพระเกียรติอยู่เสมอ แต่ทว่าความจริงแล้ว คำทั้งสองมิได้มีความหมาย
ที่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะคำทั้งสองเกิดขึ้นในบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คำว่า
“ธรรมราชา” นั้นเป็นแนวคิด(Concept)ที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันออกอย่างอินเดียเป็นสำคัญ โดยมี
คติความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องรองรับ ส่วนคำว่า ราชาปราชญ์ หรือในภาษาอังกฤษ
เรียกว่า Philosopher King นั้น เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก ถูกคิดขึ้นโดยนักปรัชญาที่
ชื่อ เพลโต (Plato)
จากที่กล่าวว่า คำว่า ธรรมราชา และราชาปราชญ์ มีความแตกต่างกันนั้น มิได้หมายความ
ว่า คำทั้งสองจะมีความหมายต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ด้วยบริบทของสังคมที่มีรายละเอียดแตกต่าง
กัน ย่อมส่งผลให้แนวคิดทั้งสองมีความแตกต่างกันในเรื่องของคำอธิบายที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักคิด
แต่ละท่าน อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ลึกซึ้งแล้วก็จะพบว่า ทั้งธรรมราชา และราชาปราชญ์
ก็ล้วนมีความหมายไปในทางบวกทั้งสิ้น นั่นคือ ผู้ปกครองที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนคุณ
ธรรมที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ดินแดนที่ตนเองปกครอง ซึ่งความจริงแล้ว จุดประสงค์ของผู้ที่
คิดค้นคำทั้งสองขึ้นมา ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือ มุ่งหวังที่จะสร้าง “ตัวแบบ” ของผู้ปกครอง
ที่ดีให้กับดินแดนของตน โดยสำหรับในสังคมไทยนั้น คำว่า “ธรรมราชา” คงจะเป็นคำที่คนไทย
คุ้นหูกันเป็นอย่างดี ด้วยเหตุที่แนวคิดเรื่อง ธรรมราชานี้ มีความสอดคล้องมากับวัฒนธรรม
อินเดีย ทั้งแบบพราหมณ์และแบบพุทธที่แพร่เข้ามาสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เมื่อหลาย
ร้อยปีที่แล้ว ส่วนแนวคิดเรื่อง ราชาปราชญ์ (Philosopher King) นั้น เชื่อแน่ว่า คนไทยคงจะมี
ความรู้สึกคุ้นหูน้อยกว่าแนวคิดเรื่องธรรมราชา ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็มิใช่ เรื่องแปลกแต่อย่างใด
เนื่องจากแนวคิดเรื่อง ราชาปราชญ์เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก โดยนักคิดชื่อเพลโต (Plato) เป็น
ผู้คิดขึ้น สำหรับคนไทยแล้ว ด้วยเหตุที่สังคมไทยในอดีต ยังมิได้มีการรับเอาวัฒนธรรมจากชาติ
ตะวันตกเข้ามามากเท่ากับวัฒนธรรมจากอินเดียที่มีศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเป็น
แกนกลาง จึงส่งผลให้แนวคิดเกี่ยวกับราชาปราชญ์ในสังคมไทยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งนี้
แม้ว่าเพลโตจะถูกยกย่องให้เป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลก แต่ความคิดของเขาก็ยังไม่ได้ถูกทำให้
กลายเป็นเรื่องที่ถูกเน้นในสังคมตะวันออกมากนัก เมื่อเทียบกับแนวคิดเรื่อง ธรรมราชา ซึ่งจาก
ลักษณะดังกล่าว เราจะเห็นถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมที่สังคมตะวันออกมีอยู่ และความ
เข้มแข็งทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของผู้ปกครองนี้ ก็ได้ทำให้ผู้ปกครองของสังคมตะวัน
ออกมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น รวมถึงผู้ปกครองของสังคมไทยด้วย สำหรับในที่นี้จะได้อธิบายให้
เห็นคุณลักษณะของธรรมราชาก่อน และอธิบายคุณลักษณะของราชาปราชญ์ตามหลัง เพื่อชี้
ให้เห็นภูมิหลังของคำทั้งสอง จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและความต่าง
ของคำทั้งสองโดยยึดพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบการปกครองแบบ
ประชาธิปไตยเป็นหน่วยวิเคราะห์
เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย