Page 284 - kpi15476
P. 284
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 2 3
ตามข้อเท็จจริงแล้ว มิใช่มีเพียงคู่กรณีระหว่างเจ้านายกับคณะราษฎร มิใช่เพียงทหารกับ
พลเรือน มิใช่เฉพาะกลุ่มผู้นำในกรุงเทพฯ และมิใช่การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่คน
แคบๆ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังมีคู่สำคัญอีกคู่หนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง คือ
คู่ระหว่างกลุ่มผู้นำทหารหรือผู้นำส่วนกลางในกรุงเทพฯ กับกลุ่มผู้นำท้องถิ่นโดยเฉพาะ ส.ส.
ทางภาคอีสาน (กลุ่มผู้นำอีสาน) ซึ่งเป็นคู่ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าคู่ของกลุ่มอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
และถ้าหากทำความเข้าใจ เข้าถึงเนื้อในของคู่ขัดแย้งนี้อย่างถึงแก่นแล้ว เราจะพัฒนาความรู้นั้นมา
สู่ความเข้าใจ เข้าถึงความขัดแย้งทางการเมืองในระยะหลัง โดยเฉพาะการเมืองในลักษณะที่พูด
กันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล แต่คนเมืองล้มรัฐบาล” และการเมืองในยุค “สงคราม
ระหว่างสี” ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญคือ ความขัดแย้งที่ปรากฏระหว่างกลุ่มต่างๆ นั้น ยังสะท้อนในวงกว้างให้เห็นในด้าน
อุดมการณ์และเชิงนโยบายอีกด้วย นั่นก็คือการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและทิศทางการพัฒนา
ประเทศ โดยในประเด็นแรกนั้น ข้อขัดแย้งหลักอยู่ในเรื่องตารางเวลา คือเมื่อใดจึงเหมาะสมที่จะ
เปิดให้การเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปหรือการแข่งขันในระบบพรรคการเมือง และ
ต่อมาก็เป็นความแตกต่างระหว่างแนวคิดประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมกับแบบก้าวหน้า ส่วนใน
ประเด็นหลังเป็นการต่อสู้ของ 2 สำนักความคิดในการพัฒนาประเทศ คือระหว่างแนวการพัฒนา
กองทัพให้ทันสมัยและการบำรุงเฉพาะในเขตเมืองหลวงกับแนวการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
โดยเฉพาะในเขตชนบทท้องถิ่น หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือ ระหว่างแนวนโยบายแบบ “จารีต-
อนุรักษ์นิยม” ที่มีมาแต่เดิมตั้งแต่ก่อน 2475 กับแบบก้าวหน้าหรือ “ประชานิยม” ที่ให้ความ
สำคัญกับภาคเกษตรกรรมหรือให้คุณค่าแก่ประชาชนชาวชนบท โดยเฉพาะคนชายขอบทั้งหลาย
แนวทางใดควรจะเป็นนโยบายหลักของทิศทางการพัฒนาประเทศ
ความขัดแย้งกันในด้านอุดมการณ์และนโยบายข้างต้น กล่าวได้ว่าเป็นผลสะท้อนโดยตรงมา
จากการที่กลุ่มผู้นำไทยทั้ง 4 กลุ่มนั้น มีความแตกต่างกันในระดับพื้นฐานทั้งภูมิหลังทางสังคม
ฐานะทางเศรษฐกิจ ประสบการณ์และสำนักความคิดทางการเมือง ทั้งนี้จะเห็นได้สมาชิกใน
4 กลุ่มนั้นเติบโตมาจากสถานภาพทางสังคมที่ไม่เหมือนกันอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้สมาชิกใน
แต่ละกลุ่มยังมีความแตกต่างในด้านอื่นๆ เช่น อายุ การศึกษา อาชีพ ประสบการณ์ วิธีคิดและ
อุดมการณ์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ทำให้แต่ละกลุ่มมีแนวนโยบายสำหรับประเทศ
ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและทิศทางการพัฒนาประเทศ
และเป็นการยากที่จะประสานเป็นหนึ่งภายหลัง 2475 เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีความคิด ความอ่าน
ความต้องการ รวมทั้งจินตนาการเกี่ยวกับระบอบการปกครองใหม่หรือประชาธิปไตยแตกต่างกัน
อย่างมาก ราวกับว่าต่างมาจากคนละโลก ไม่ว่าจะเป็นคู่กลุ่มอำนาจเก่ากับใหม่ ทหารกับพลเรือน
ภายในกลุ่มพลเรือนด้วยกันเองระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับอนุรักษ์นิยม และท้ายสุดซึ่งมักไม่ได้รับ
การกล่าวถึงอย่างเท่าที่ควรคือ ระหว่างผู้นำท้องถิ่น คนชายขอบกับผู้นำส่วนกลางทั้งหลาย
จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้นำที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 และเป็น
มรดกตกทอดเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย