Page 93 - kpiebook62010
P. 93
86
5.1 วิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ
จากที่ได้ศึกษากฎหมายต่างประเทศของประเทศเยอรมนี สหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์สหราชอาณาจักร และ
ประเทศอินเดียแล้ว สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย คือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณ
กรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้ในประเด็นที่เกี่ยวกับ ภาพรวมของกฎหมายสัตว์ที่กฎหมายคุ้มครอง
การกระทำที่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์และข้อยกเว้นการจัดสวัสดิภาพสัตว์และสภาพบังคับตามกฎหมายได้
ดังต่อไปนี้
5.1.1 ภาพรวมของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาในภาพรวมกฎหมายนั้น จะเห็นว่ากฎหมายของประเทศที่ทำการศึกษานั้น
จะกำหนดรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการในการปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์ เช่นบทบัญญัติที่กำหนดว่าด้วย
การเลี้ยงสัตว์ ดูแลสัตว์ การจัดการต่างๆ กับสัตว์เช่นการขึ้นทะเบียนสัตว์ การขนส่งสัตว์ ตลอดจนถึงการฆ่าสัตว์
หรืออย่างเช่นกฎหมายของเยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์ก็ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการทดลองและการวิจัยในสัตว์
ไว้ด้วย ทำให้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ของประเทศต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะแบบครบวงจร
เป็นกฎหมายเพื่อปกป้องหรือคุ้มครองสัตว์ในทุกมิติ
สำหรับประเทศไทยนั้น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องของการทดลองในสัตว์นั้นได้รับการบัญญัติ
เป็นพิเศษไว้ใน พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์พ.ศ. 2558 หลักเกณฑ์การฆ่าสัตว์นั้นได้รับการบัญญัติ
ไว้ในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ
การเลี้ยงหรือสืบพันธุ์สัตว์บางชนิดที่เป็นปศุสัตว์หรือสัตว์เศรษฐกิจได้รับการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติบำรุง
พันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2509 รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทะเบียนสัตว์หรือผู้เลี้ยงสัตว์ที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายก็มีแต่
เฉพาะสัตว์พาหนะเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะพุทธศักราช 2482 ส่วนการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงนั้น
อาจจะไปปรากฏในกฎหมายลำดับรองเช่นเทศบัญญัติต่างๆ เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุม
การเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ส่วนเรื่องของสัตว์ป่านั้นก็ได้รับการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติ
สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แต่การจัดการเกี่ยวกับสัตว์ในพระราชบัญญัติต่างๆนั้นก็ไม่ได้ครอบคลุม
ใช้กับสัตว์ทุกชนิด แต่จะครอบคลุมเฉพาะสัตว์บางประเภทตามแต่เจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับเหล่านั้น
ปัญหาของการที่กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ของไทยนั้นอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ก็ทำให้มีปัญหา
ในการตีความเมื่อมีข้อความในแต่ละกฎหมายนั้นกำหนดไว้ขัดแย้งหรือลักลั่นกัน เช่น “เจ้าของสัตว์” ตาม
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ก็อาจจะไม่ตรงกันกับ “เจ้าของ”
ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2258 ก็ได้ 1
1 พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 3 “เจ้าของสัตว์” หมายความว่า
เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของ
กรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย ในขณะที่ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 4
“เจ้าของ” หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครอง ในกรณีของสัตว์หากไม่ปรากฏเจ้าของหรือไม่สามารถหาเจ้าของได้
ให้หมายความรวมถึงผู้เลี้ยง ผู้ให้ที่อยู่อาศัย และผู้ควบคุมสัตว์ด้วย เห็นได้ว่านิยามของ “เจ้าของสัตว์” ตามพระราชบัญญัติป้องกัน
การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์นั้นมีความหมายที่แคบกว่า
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557