Page 218 - kpiebook65010
P. 218
แนวทางและวิธีการวิเคราะห์
ผลกระทบทางสังคมในการตรากฎหมาย
หลังจากที่ได้มีการศึกษาแนวคิด แนวทางและวิธีการดำเนินการในระดับสากลและ
ในต่างประเทศในบทที่ 3 และบทที่ 4 ไปแล้ว ในบทนี้จะเป็นการถอดบทเรียนสู่การวิเคราะห์
กรณีศึกษาในบริบทประเทศไทยภายใต้กรอบดำเนินการทางกฎหมายที่ได้กล่าวไปในบทที่ 2
รวมทั้งนำองค์ความรู้และข้อค้นพบจากบทที่ 2 บทที่ 3 และบทที่ 4 มาจัดทำเป็นกรณีศึกษา
(case study) เพื่อยกตัวอย่างให้เกิดความเข้าใจการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมมากยิ่งขึ้น
บทที่ 5 จึงเป็นบทสำคัญของรายงานการศึกษาที่มุ่งนำเสนอและประยุกต์ข้อค้นพบจาก
การศึกษาเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับการทำ RIA ในบริบทของประเทศไทย
การนำเสนอในบทนี้มุ่งที่จะตอบวัตถุประสงค์การศึกษาหลักสองประการที่ตั้งไว้ใน
บทที่ 1 อันได้แก่วัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบว่าสามารถถอดบทเรียนและสรุปองค์ความรู้และ
ประสบการณ์ดำเนินการจากต่างประเทศมาเป็นแนวทางพัฒนาการประเมินในทั้งสองด้าน
ภายใต้บริบทประเทศไทยอย่างไร และวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้มา
จัดทำเป็นกรณีศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเข้าใจการวิเคราะห์
ผลกระทบทางสังคมในทางปฏิบัติ โดยการนำเสนอในบทนี้จะชี้ให้เห็นว่าสามารถพัฒนา
กรอบดำเนินการทางกฎหมายในการวิเคราะห์ผลกระทบให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้อย่างไร
โดยนำเสนอประกอบกับการวิเคราะห์ RIA ของร่างกฎหมายบางฉบับของไทย
ประเด็นหลักที่จะนำเสนอในบทนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะนำเสนอแนวทางและ
วิธีการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมในภาพรวมโดยนำเสนอเชิงเปรียบเทียบแนวทางและ
วิธีการวิเคราะห์ผลกระทบในประเทศไทย (ข้อค้นพบบทที่ 2) เปรียบเทียบกับแนวทางและ
วิธีการวิเคราะห์ผลกระทบตามแนวทางของ EU (ข้อค้นพบบทที่ 3) และแนวทางของ
4 ประเทศ (ข้อค้นพบบที่ 4) เพื่อชี้ให้เห็นว่าประเด็นเรื่องใดบ้างที่ไทยอาจนำประสบการณ์และ
การแก้ปัญหาของต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อให้แนวทางและวิธีการวิเคราะห์ผลกระทบของไทย
โดยเฉพาะในมิติด้านสังคมมีความละเอียดและสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดย่อมจะยังให้เกิด
กระบวนการวิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลครบถ้วน เหมาะสมและเชื่อถือได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์
ต่อกระบวนการร่างกฎหมายอันเป็นจุดหมายปลายทางของการทำ RIA และส่วนที่สอง
จะนำเสนอกรณีศึกษาที่เน้นการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม 3 ตัวอย่าง ซึ่งจะเน้น
การวิเคราะห์โดยนำแนวคิดและวิธีการวิเคราะห์จากต่างประเทศมาปรับใช้กับกรณีศึกษา
โดยวิเคราะห์ตามแนวทางการวิเคราะห์ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน
สถาบันพระปกเกล้า
206