Page 39 - kpiebook65010
P. 39
แนวทางและวิธีการวิเคราะห์
ผลกระทบทางสังคมในการตรากฎหมาย
2.1 ภาพรวมของระบบการวิเคราะห์ผลกระทบในกฎหมายไทย
ประเด็นแรกที่ควรเริ่มพิจารณาในลำดับแรกได้แก่การตั้งฐานในการทำความเข้าใจว่า
หลักการวิเคราะห์ผลกระทบในกฎหมายไทยมีอยู่อย่างไร โดยจะพบว่าหลักการวิเคราะห์ผลกระทบ
ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฯและกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่ออกมา
เพื่อกำหนดรายละเอียด นอกจากนี้หลักการในเรื่องนี้ยังปรากฏในระเบียบภายในฝ่ายปกครอง
15
ที่มีการใช้ในทางปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต โดยอาจเริ่มต้นจากการมีหลักการเรื่องนี้ในระเบียบ
สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2531 อาจกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า
16
ประเทศไทยมีหลักการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบในกฎหมายอย่างชัดเจน โดยในหัวข้อนี้
จะกล่าวถึงหลักการที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฯ 2560 และ
พระราชบัญญัติที่วางหลักการวิเคราะห์ผลกระทบเอาไว้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นหลักการที่มี
กฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณาเมื่อมีการทำ RIA โดยตรง
2.1.1 รัฐธรรมนูญฯ 2560
หากพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ 2560 จะพบว่ามีบทบัญญัติที่กำหนดให้มี
การวิเคราะห์ผลกระทบในมาตรา 77 ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ และมาตรา 258 ในหมวดว่า
ด้วยการปฏิรูปประเทศโดยในส่วนของหลักการที่เป็นใจกลางสำคัญปรากฏในมาตรา 77 วรรคสอง
ซึ่งกำหนดให้ในขั้นตอนก่อนการตรากฎหมาย รัฐมีความผูกพันในทางนโยบายที่จะต้องรับฟัง
ความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตรากฎหมายอย่าง
รอบด้าน ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้น
ต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน โดยหลักการ
ดังกล่าวนี้ถือว่าขยายหลักประกันการตรากฎหมายจากที่แต่เดิมนั้นรัฐธรรมนูญบัญญัติแต่เพียงว่า
15 รายละเอียดของพัฒนาการการทำ RIA ในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาจนถึงการตราพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสม
ของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ดู สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “การวิเคราะห์ผลกระทบในการออก
กฎหมาย (RIA) กับการปฏิรูปกฎหมาย” เอกสารวิชาการ (Academic Focus) กรกฎาคม 2559, 7-8.
16 สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Final
Report) โครงการวิจัย เรื่อง องค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย ( Building
Knowledge and Tools for Regulatory Impact Analysis )” รายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ สำนักนวัตกรรมเพื่อ
ประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า” (2563) 60.
สถาบันพระปกเกล้า
27