Page 139 - kpi12626
P. 139
12 การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:
คู่มือสำหรับนักบริหารงานท้องถิ่นในยุคใหม่
กล่าวโดยสรุป หากเทศบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินให้
เพียงพอต่อรายจ่ายประจำและการดำเนินโครงการต่างๆ และมิได้ก่อหนี้สิน
ระยะยาวเกินตัวแล้วนั้น การบริหารงานคลังในเชิงรุกด้วยการเพิ่มระดับใน
การใช้จ่ายของเทศบาลให้เต็มตามศักยภาพทางการเงินการคลังที่มีอยู่ ย่อม
นำไปสู่การตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประชาชนในชุมชนได้เพิ่มขึ้น
การใช้ข้อมูลทางการเงินการบัญชีเพื่อการกำหนดนโยบายจัดบริการ
สาธารณะและนโยบายการคลังและงบประมาณที่สอดรับกันย่อมนำพา
ประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนสมตามหลักการปกครองตนเองของชุมชน
ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
7.4 ถอดบทเรียนการประยุกต์ใช้
เครื่องมือวิเคราะห์ฐานะทางการเงิน
เนื้อหาในบทนี้นำเสนอกรณีตัวอย่างของเทศบาลจำนวน 2 แห่งที่มี
แนวนโยบายบริหารการเงินการคลังและการจัดบริการสาธารณะแตกต่างกัน
โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับนโยบาย
การบริหารการเงินและการจัดบริการสาธารณะและผลที่เกิดขึ้นต่อฐานะ
ทางการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลจากการวิเคราะห์
กรณีตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่าการที่ท้องถิ่นมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี
มีความยั่งยืนทางงบประมาณและความยั่งยืนทางการเงินระยะยาวที่ดีมาก
แต่อาจไม่ได้หมายความว่าท้องถิ่นแห่งนั้นๆ ได้ใช้ความเข้มแข็งทางการเงินที่
มีอยู่ไปในการจัดบริการให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่แต่ประการใด ในกรณี
เช่นนี้ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าท้องถิ่นแห่งนั้นมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง
รอบด้านเท่าใดนัก ในทางกลับกัน การที่ท้องถิ่นมุ่งใช้จ่ายจัดบริการสาธารณะ
หรือลงทุนในด้านต่างๆ อย่างเกินตัว จนทำให้สภาพคล่องทางการเงินใน
ระยะสั้นและระยะยาวติดขัดและขาดหลักประกันถึงความต่อเนื่องของการให้
บริการแล้ว กรณีที่สุดขั้วเช่นนี้ก็มิใช่สภาวะที่พึงประสงค์เช่นกัน และย่อม
บ่งชี้ว่าฐานะทางการเงินขององค์กรเริ่มมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
อย่างเร่งด่วน