Page 145 - kpi12626
P. 145
13 การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:
คู่มือสำหรับนักบริหารงานท้องถิ่นในยุคใหม่
การวิเคราะห์ความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว (long-term solvency) และ
การวิเคราะห์ความเพียงพอของการให้บริการ (service-level solvency)
การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติมีความจำเป็นเพื่อให้ได้
ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านการเงินและการจัดบริการของเทศบาล
ที่รอบด้าน ดัชนีชี้วัดทางการเงินที่เลือกใช้ในการศึกษาครั้งนี้มีทั้งหมด 17 ตัว
และผู้เขียนได้นำเสนอวิธีการวิเคราะห์และแนวทางการประยุกต์ใช้ดัชนีชี้วัด
ต่างๆ แล้วในเนื้อหาบทที่ 3 ถึง 6 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับการ
ประยุกต์ใช้และการตีความหมายจากกรอบวิเคราะห์ฐานะทางการเงิน
ในครั้งนี้ ผู้เขียนจึงนำกรอบวิเคราะห์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับเทศบาล
จำนวน 972 แห่งโดยใช้ข้อมูลในปีงบประมาณ 2552 (ราวร้อยละ 48.4 ของ
เทศบาลทั้งหมด) และข้อมูลการตีความในเชิงลึกจากกรณีตัวอย่างของ
เทศบาลขนาดกลางจำนวน 2 แห่ง ทั้งนี้เทศบาลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 972
แห่งแบ่งออกเป็นเทศบาลนคร 12 แห่ง เทศบาลเมือง 88 แห่ง และเทศบาล
ตำบล 872 แห่ง เทศบาลเหล่านี้มีขอบเขตภารกิจที่หลากหลายแตกต่างกันไป
และมีขนาดประชากรและงบประมาณรายจ่ายที่แตกต่างกัน ข้อมูลเชิง
ปริมาณจากแบบสำรวจเทศบาลกลุ่มตัวอย่างและข้อมูลเชิงคุณภาพจาก
กรณีศึกษานำมาซึ่งผลการวิเคราะห์ทั้งในภาพกว้าง (cross-sectional) และใน
เชิงลึก (in-depth) ที่สะท้อนถึงแง่มุมในการประยุกต์ใช้กรอบวิเคราะห์ฐานะ
ทางการเงินได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผลวิเคราะห์เทศบาลกลุ่มตัวอย่างในปีงบประมาณ 2552 พบว่า
ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งพอสมควร มีสภาพคล่องในระยะสั้น
ในระดับที่สูง เทศบาลส่วนใหญ่มีอัตราส่วนทุนหมุนเวียนและอัตราส่วน
เงินสดโดยเฉลี่ยเท่ากับ 7.22 และ 7.12 เท่าตามลำดับ ระดับหนี้สินหมุนเวียน
ต่อรายรับรวมของเทศบาลไม่สูงนัก หรือราวร้อยละ 15.02 โดยเฉลี่ย อีกทั้ง
การบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นและการติดตามเร่งรัดจัดเก็บลูกหนี้ภาษีอยู่
ในระดับที่ดีปานกลาง อัตราส่วนลูกหนี้ภาษีต่อรายได้ที่เทศบาลจัดเก็บเอง