Page 129 - kpi21595
P. 129
หรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมแต่อาจเป็นเพราะปัจจัยอื่น อาทิ ในช่วงเวลานั้นพวกเขาติดภารกิจเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่าง
อื่นหรือไม่หรือพวกเขาชอบกิจกรรมเหล่านั้นหรือไม่ เป็นต้น
ผลการสัมภาษณ์ข้างต้น สอดคล้องกับผลการสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางด้าน
เศรษฐกิจของประชากรในจังหวัดร้อยเอ็ดที่ระบุว่าประชากรในจังหวัดร้อยเอ็ดนั้นมีรายได้น้อยกว่าจังหวัดอื่นใน
ประเทศไทยโดยเปรียบเทียบ โดยในปี 2559-2560 จังหวัดร้อยเอ็ดมีรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ในอันดับที่
71 ของประเทศไทยซึ่งเกือบรั้งท้าย จึงไม่แปลกใจที่ผลการสำรวจเอกสารแผนพัฒนาในทุกระดับจะพบได้ว่า
โครงการต่างๆภายใต้แผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมเข้มแข็งมักจะเน้นไปที่การพัฒนาทางด้านเศรฐกิจ
และการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนเป็นหลัก หาโครงการที่เป็นไปเพื่อพัฒนาสำนึก
ความเป็นพลเมืองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในพื้นที่ได้น้อยมาก ในแง่นี้สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจจึง
ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดโครงการในระดับพื้นที่ที่เป็นไปเพื่อพัฒนาสำนึกความเป็นพลเมืองในภาพรวมมากนัก
แต่เน้นไปที่การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก
ขณะที่ ผลจากการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าคนในชุมชนมีความตื่นตัวกับกิจกรรมส่งเสริมอาชีพและพัฒนา
เศรษฐกิจอย่างมาก โดยพบว่าร้อยละ 98 ของกลุ่มตัวอย่างจะเข้าร่วมกลุ่มอาชีพต่างๆในชุมชนมีเพียงร้อยละ 2
เท่านั้นที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มอาชีพเหล่านั้น เนื่องด้วยเหตุผลความชอบส่วนตัวเช่นไม่ชอบกิจกรรมประเภทนี้
อย่างตัวแทนของอำเภอพนมไพรผู้หนึ่งที่กล่าวว่าไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มอะไรเนื่องจาก “ไม่ชอบ” หรือเป็นเพราะไม่
ว่างอย่างกรณีของยายย้อยที่อยู่ตัวคนเดียวและไม่สะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มใดๆเนื่องจากชรา
เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านคนหนึ่งจะเข้าร่วมหลากหลายกลุ่มอาชีพ อาทิ คุณ ข กล่าวถึงการเข้าร่วม
กิจกรรมของภรรยาตนเองว่า “แฟนผมเป็น อสม. เป็นหลายกลุ่ม เป็นกลุ่มสวัสดิการ อบต. สตรี กลุ่มเงินออม
ทรัพย์ เขาชอบไปงานแบบนี้” หรือกรณีของ คุณ ค ตัวแทนจากอำเภอปทุมรัตต์เช่นกันกล่าวว่า “แม่อยากรู้ว่า
เขาทำอะไร แม่ก็ไป แม่ชอบไปอบรม ก็จะได้รู้ว่าโครงการนี้บ้านอื่นเขาทำแล้วดูดี อย่างเช่นทำปุ๋ย 9101 เราก็
เอามาทำ” กรณีของตัวแทนจากตำบลสะอาดสมบูรณ์ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อย่างยายแย้ม ก็กล่าวในทำนอง
เดียวกันว่า “ใครเอาอะไรมาให้หนูเอาหมด บ้านเรานี่กลุ่มเยอะแยะ เงินฉุกเฉินก็มี อันนี้แบ่งมาจากเงินล้าน
กลุ่มบ้านเราเยอะ เพราะผู้ใหญ่เอามา เราต้องเอา ต้องมีกลุ่ม”
จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคนในพื้นที่นั้นให้ความสนใจกับโครงการประเภทส่งเสริมอาชีพและพัฒนา
ศักยภาพในการประกอบอาชีพอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์ของยายแย้มก็ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยว่าการ
เข้าร่วมกลุ่มอาชีพต่างๆนั้นเป็นไปเพราะความต้องการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือเป็นเพราะ
ต้องการได้รับ “งบประมาณ” สนับสนุนจากการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อส่งเสริมอาชีพกันแน่ ซึ่งเรื่องนี้บทสัมภาษณ์
ของตัวแทนจากอำเภอปทุมรัตต์อาจให้คำตอบได้ส่วนหนึ่งว่า งบประมาณหรือค่าจ้างที่บางโครงการมอบให้
รายวันนั้นถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จูงใจให้คนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ไม่น้อย “ที่นี่ทำปุ๋ยหมดชาวบ้านทำแล้วก็
ช่วยกันซื้อ ผมก็ทำอยู่ที่หมู่ 8 ที่ศาลาประชาคมเขาจะให้ค่าแรงวันละ 300 เขาให้แค่20คนทำเป็นล็อตๆไป”
จากการศึกษาเชิงลึกพบว่าโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพพบว่าส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่มา
พร้อมกับงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมในรูปของกองทุน ผลการสัมภาษณ์พบว่าในหมู่บ้านนั้นมีกองทุนจำนวน
มาก อาทิ “กองทุนหมู่บ้าน” หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามของ “กองทุนเงินล้าน” ที่จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน
118