Page 132 - kpi21595
P. 132

กับรายได้ อาทิ กรณีการ “ขายวัว” ที่ได้รับแจกมาเพื่อแลกเป็นเงินและนำมาใช้หมุนเวียนกันในกลุ่มเลี้ยงวัว

               ของยายแย้ม เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ตรงไปตรงมาในการใช้เงินของชาวบ้าน
               และ การใช้เทคนิคเพื่อให้ได้เงินจากหน่วยงานราชการผ่านการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไข

               ที่ขัดขวางต่อการสร้างสำนึกพลเมืองที่มีความตระหนักรู้และมีความกระตือรือร้นในระบอบประชาธิปไตยอย่าง

               มาก
                       นอกจากนั้น ผลจากการศึกษายังพบอีกว่าปัญหาความยากจนนั้น ได้ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้าย

               ประชากรที่อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองแก่ประชากรในพื้นที่อย่างสำคัญ ข้อมูลจาก
               สำนักงานสถิติจังหวัดร้อยเอ็ดระบุว่า ปัจจุบันประชากรในวัยแรงงานของจังหวัดร้อยเอ็ดได้อพยพออกไป

                                              45
               ทำงานนอกจังหวัดร้อยเอ็ดมากยิ่งขึ้น  กล่าวคือเมื่อสิ้นสุดฤดูทำนาแล้วจำนวนวัยแรงงานซึ่งมีจำนวนกว่า 5
               แสนคน มีแนวโน้มที่จะไม่ได้พำนักอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อหมดฤดูกาลทำนา ส่งผลให้โครงสร้างประชากรของ
               จังหวัดร้อยเอ็ดส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ กระทบต่อสถาบันครอบครัวให้อ่อนแอมีความเสี่ยงที่เยาวชนจะ

               ไม่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมจากพ่อและแม่ที่มักอยู่ในช่วงวัยทำงานน้อยลง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะ
               อ่อนแอลงเนื่องจากขาดประชากรในวัยแรงงานที่จะเป็นกำลังสำคัญให้แก่ครอบครัวและชุมชนในการหารายได้

               ตลอดจนพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนในชุมชน เรื่องนี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ผู้วิจัยได้กล่าวไว้ใน

               ส่วนของปัจจัยส่วนบุคคล เรื่องอายุของประชากรว่ามีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเป็น
               พลเมืองสู่คนในชุมชนอย่างไร กล่าวคือ ประชากรที่มีช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะประสบกับปัญหาเรื่องสุขภาพ

               และการเดินทางที่ทำให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในชุมชนได้น้อยลง ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยเรียนก็

               มักจะไม่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนมากนัก
                       อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากแบบสอบถามที่เก็บได้จำนวน 1,000 ชุดนั้นพบว่าประชากรส่วนใหญ่อยู่

               ในช่วงอายุ 41-50 ปี ร้อยละ 23.5 รองลงมาคือช่วงอายุ 51-60 ปี ร้อยละ 22.7 ซึ่งเป็นวัยแรงงาน หากยึดตาม
               พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งราชการเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

               ผู้วิจัยจึงมองว่าเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจและความยากจนอาจไม่ได้กระทบกับโครงสร้างประชากรในทันทีและ

               มีความเป็นไปได้ว่าการเคลื่อนย้ายของประชากรวัยแรงงานในจังหวัดร้อยเอ็ดอาจไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายข้าม
               จังหวัดเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีลักษณะของการเดินทางไปต่างอำเภอหรือจังหวัดข้างเคียงด้วย และด้วยเหตุนี้

               จึงทำให้จำนวนประชากรตัวอย่างที่เก็บข้อมูลได้อยู่ในช่วงวัยแรงงานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ ข้อมูลจากการ
               สัมภาษณ์ก็ระบุให้เห็นว่าประชากรที่อยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี ส่วนใหญ่จะมีอาชีพรับจ้างในอำเภอข้างเคียงหรือ

               จังหวัดข้างเคียงเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการเกษตร

                       ดังนั้น สำหรับผู้เขียนผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการสร้างสำนึกพลเมืองนั้นไม่ได้เกิดจากการที่
               โครงสร้างประชากรถูกกระทบอย่างรุนแรงกระทั่งทำให้จำนวนประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเหลือแค่

               เพรียงเด็กและผู้สูงอายุ แต่น่าจะเป็นเพราะว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจนั้นส่งผลต่อ “เวลา” ที่ผู้ปกครองจะมีให้แก่

               บุตรหลานและสิ่งนี้เองที่อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างความรู้และพฤติกรรมความเป็นพลเมืองจากรุ่นสู่รุ่นได้


               45  สำนักงานสถิติจังหวัดร้อยเอ็ด. รายงานผลการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2561. ร้อยเอ็ด: สำนักงานสถิติจังหวัด
               ร้อยเอ็ด, 2561.

                                                                                                       121
   127   128   129   130   131   132   133   134   135   136   137