Page 144 - kpi21595
P. 144
แตกต่างกันออกไป ทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องการถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนให้แก่ผู้อื่นด้วย ในแง่นี้ผู้วิจัยมองว่าตัวของ
ผู้เรียนเองอาจมีปัญหาในการถ่ายทอดข้อมูลสู่ผู้อื่นด้วยประการหนึ่ง
ปัจจัยด้านสังคม
ผลจากการศึกษาพบว่า โครงสร้างทางด้านสังคมนั้นมีทั้งด้านที่ส่งเสริมและขัดขวางต่อการเสริมสร้าง
ความเป็นพลเมือง ในส่วนของปัจจัยที่ยังถือว่าเป็นข้อจำกัดในการส่งเสริมและสร้างความเป็นพลเมืองนั้นก็คือ
มิติทางด้านวัฒนธรรมที่ยังให้ความสำคัญกับวัยวุฒิและคุณวุฒิ ผลการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าคนในชุมชนที่อยู่ใน
วัย 20 ต้นๆซึ่งเป็นวัยนักเรียนนักศึกษายังมีความแนวคิดการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องของ
ผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ดังที่ตัวแทนจากตำบลสะอาดสมบูรณ์ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
ผู้หนึ่งกล่าวว่า “ส่วนใหญ่หนูก็ไปเรียน เรื่องประชุมหนูไม่เคยไปเลย ส่วนใหญ่ก็เป็นพ่อแม่” เป็นต้น ด้านคนใน
ชุมชนเองก็ยังมีวัฒนธรรมที่ยึดถือคุณวุฒิอย่างมากอันส่งผลเป็นการจำกัดตนเองในการแสดงออกทางการเมือง
ผลการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าแม้คนในชุมชนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการประชุมประชาคมและเข้าร่วม
ประชุมประชาคมมากกว่าแต่ก่อน กระนั้น เมื่อสอบถามถึงการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆกลับพบว่า
พวกเขาพร้อมที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม ยกตัวอย่างเช่น
ตัวแทนจากตำบลขวาวอำเภอเสลภูมิผู้หนึ่งกล่าวว่า “...คนที่แสดงความเห็นก็เก่าๆ เดิมๆ เป็นขุนพล ผมคน
หนึ่งล่ะไม่ค่อยแสดงความเห็น ไม่ค่อยชอบ ถ้ามีคนพูดแล้ว ผมจะไม่ซ้ำประเด็น” ด้านตัวแทนจากตำบลขวาว
อำเภอเสลภูมิอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า “ก็มีบ้าง แต่ไม่ค่อยมีคนแสดงความเห็นเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะเห็นด้วย มันก็
จะมีคนกล้าก่อนถึงจะมีคนตาม” ขณะที่ตัวแทนจากตำบลโพนสูงอำเภอปทุมรัตต์ผู้หนึ่งกล่าวว่า “สมัยก่อนไม่
ค่อยมีคนกล้าเถียงแต่เดี๋ยวนี้ก็เถียงเยอะขึ้น ประเมินว่าแลกเปลี่ยนกันดีกว่า ก็จะบอกว่า ชาวบ้านเปลี่ยนก็ได้
แต่สำหรับแม่ก็ฟังมากกว่า” ด้านตัวแทนจากตำบลสะอาดสมบูรณ์ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า
“คนแสดงความเห็นก็มีแต่ก็เป็นคนเดิมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่อาย” เป็นต้น ขณะที่ บางคนมองว่าเรื่องของ
การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองนั้นเป็นบทบาทของผู้นำและอาสาสมัครเท่านั้น ประชาชนมีหน้าทีเพียงปฏิบัติ
ตาม อาทิ ตัวแทนจากตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพรผู้หนึ่งกล่าวถึงการเข้าร่าวมโครงการต่างๆว่า “ส่วนใหญ่
ก็เป็นผู้นำไปร่วม”
อย่างไรก็ตาม สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีก็ทำให้
เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบางอย่างอันส่งผลต่อรับรู้ศักยภาพของตนเองอันกระทบต่อวิถีปฏิบัติอย่างสำคัญ
โดยเป็นไปในด้านบวกต่อความสนใจและการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนเพิ่มมากขึ้น ผลการศึกษา
พบว่า ชาวบ้านเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งมันทำให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน
เรื่องการสื่อสาร ผลการสัมภาณ์พบว่าคนเข้าร่วมประชุมประชาคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีความกล้าในการ
แสดงความเห็นมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มากนักดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากค่านิยม
ดั้งเดิม แต่การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารก็เป็นเงื่อนไขที่กระตุ้นให้คนในชุมชนมีความสนใจความเป็นไปของ
ชุมชนมากขึ้น เนื่องจากไลน์กลุ่มและเว็บไซต์โซเชียลมีเดียนั้น มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงตัวบุคคลได้ดีกว่า
การประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องการจายเสียงแบบเดิมจึงทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น
133