Page 59 - kpiebook62010
P. 59
52
4.1 สถานะของสัตว์และการคุ้มครองสัตว์ตามกฎหมายไทย
ก่อนมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและ
การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ของประเทศไทยก่อนมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัด
สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้นปรากฎอยู่ตั้งแต่ในกฎหมายเก่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และในบทบัญญัติแห่งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งเราอาจจะพิจารณา
สถานะของสัตว์ตามกฎหมายต่างๆ ข้างต้นได้ดังต่อไปนี้
4.1.1 บทบัญญัติเกี่ยวกับสัตว์ตามกฎหมายไทยตามกฎหมายเก่า
สัตว์ได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายไทยในสถานะของทรัพย์สินอย่างหนึ่ง เช่นตามพระราชบัญญัติ
สัตว์พาหนะ รศ. 119 (พ.ศ. 2443) ซึ่งมีเจตนารมณ์หลักในการป้องกันการลักทรัพย์สัตว์พาหนะโดยการให้ทำ
ตั๋วรูปพรรณแสดงความเป็นเจ้าของสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการลักขโมยสัตว์พาหนะ โดยสัตว์ที่อยู่ใน
1
บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือและล่อ ต่อมาพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ยกเลิกและ
ตราพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 ขึ้นใช้บังคับแทน
นอกจากนี้ตาม พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่าพระพุทธศักราช 2464 ก็ถือว่าช้างนั้น
เป็นสัตว์ที่ถือเป็นทรัพยากรของรัฐ จากคำปรารภของพระราชบัญญัติที่ว่า “ตามพระราชประเพณีและ
พระราชกำหนดกฎหมายที่มีสืบมาแต่โบราณ ย่อมถือว่าบรรดาช้างป่าทั้งสิ้น คือ ที่เรียกว่าช้างโขลงก็ดี หรือ
ช้างเถื่อนก็ดี ซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาจักร นับว่าเป็นของหลวงสำหรับแผ่นดิน ผู้ใดจะจับไปใช้สอยต้อง
ขออนุญาตต่อรัฐบาล และต้องแบ่งช้างที่จับได้ให้เป็นช้างหัวป่าสำหรับใช้ราชการแผ่นดิน จึงจะจับช้างป่า
ไปใช้สอยได้ และถ้าผู้ใดทำอันตรายช้างป่าด้วยประการใดๆ ย่อมมีโทษตามกฎหมายเป็นธรรมเนียมสืบมา”
ดังนั้นแม้ตามกฎหมายจะมีเจตนารมณ์ส่วนหนึ่งในการคุ้มครองช้างป่าไม่ให้ได้รับอันตรายจากการจับหรือลักลอบ
ฆ่าช้างเพื่อเอางาก็ตาม แต่เจตนารมณ์หลักของกฎหมายนั้นก็เป็นไปเพื่อการคุ้มครองความเป็น “ของหลวงสำหรับ
แผ่นดิน” ของช้างป่าเป็นวัตถุประสงค์สำคัญกว่า
ส่วนกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์ฉบับแรกของไทยนั้น ได้แก่ กฎหมาย
ลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 335 ความผิดลหุโทษ ในฐานกระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชนแลให้
2
สาธารณชนปราศจากความศุขสบาย อนุมาตรา (16) ว่า “ผู้ใดทรมานสัตว์เดียรฉานด้วยความดุร้าย หรือมันฆ่า
สัตว์เดียรฉานให้ตายด้วยความลำบากโดยมิจำเปน ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษชั้น 3” และ อนุมาตรา
(17) “ผู้ใดทำให้ปสุสัตว์หรือสัตว์พาหนะถึงตายหรือมีบาดเจ็บ เพราะมันขับขี่หรือบรรทุกสัตว์นั้นจนเหลือ
ขนาดไซร้ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษชั้น 3” ซึ่งต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมาย
1 พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร.ศ. 119. สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดปัตตานี. http://pvlo-pni.dld.go.th/index.php/2013-
12-13-07-34-49/119-2?showall=1&limitstart=
2 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/009/206.PDF
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557