Page 238 - kpi15476
P. 238
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 23
พันธะหน้าที่ต่อรัฐและหน้าที่ต่อครอบครัว:
ปรัชญาขงจื่อในคัมภีร์หลุนอวี่และปรัชญาฮินดูในมหากาพย์มหาภารตยุทธ
ในการพิจารณาตัวบทในคัมภีร์หลุนอวี่และมหากาพย์มหาภารตยุทธ ก่อนอื่นเราจำเป็นต้อง
พิจารณาถึงบริบทของตัวบทด้วยส่วนหนึ่ง อันเป็นสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับตัวบทเพื่อให้เข้าใจ
ตัวบทได้มากขึ้น โดยทั้งสองปรัชญาต่างเกิดขึ้นในบริบทที่มีความวุ่นวายของระเบียบทางสังคม
กล่าวคือ มหาภารตยุทธเป็นมหากาพย์ที่พรรณนาถึงความเป็นอยู่ของชาวอารยันในช่วงกำลังสร้าง
ความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรของตนเองโดยมีการทำสงครามระหว่างชาวอารยันด้วยกันเอง
ส่วนปรัชญาขงจื่อเกิดขึ้นภายใต้บริบทแห่งยุคเสื่อมของระบบศักดินาในสมัยราชวงศ์โจวซึ่งรัฐเล็ก
รัฐน้อยต่างพยายามแย่งชิงอำนาจกันอยู่ ดังนั้นความยุ่งยากทางสังคมจึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็น
ปัญหาของบริบทสังคมสมัยนั้น ภายใต้สภาพปัญหาดังกล่าว การแสวงหาคำตอบจึงเกิดขึ้นเพื่อ
พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่วุ่นวายให้เป็นไปในทิศทางที่เชื่อกันว่าจะเป็นแนวทางที่ดีขึ้นใน
การนำไปสู่ความเป็นระเบียบของสังคม
ปรัชญาขงจื่อในคัมภีร์หลุนอวี่
จากการศึกษาปรัชญาขงจื่อ แนวคิดครอบครัวในบางตัวบทจะเน้นความสัมพันธ์ที่มีความ
ใกล้ชิดกับบิดามารดามากที่สุดในบรรดาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และให้ความสำคัญมากกว่า
บรรพชนที่อยู่อันไกลโพ้น ดังขงจื่อกล่าวว่า “ยามบิดายังอยู่ จงเฝ้าดูที่ปณิธาน ยามบิดาวายปราณ
จงเฝ้าดูที่ปฏิปทา หาก 3 ปีมิได้หันเหไปจากมรรคาแห่งบิดาก็ถือว่ากตัญญูแล้วแล” (คัมภีร์หลุนอวี่,
2549:120) ดังนั้นหากบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ก็จะต้องให้ความใกล้ชิด หรือแม้นบิดามารดาเสีย
ชีวิตแล้วก็ตามจะต้องให้ความเคารพบูชาเสมือนประหนึ่งท่านอยู่ตรงหน้า (คัมภีร์หลุนอวี่,
2549:141) และนอกเหนือจากการไหว้ผีบรรพบุรุษแล้วการนับถือผีอื่นที่มิควรไหว้ ขงจื่อจะถือว่า
เป็นการประจบเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง (คัมภีร์หลุนอวี่, 2549:123) ในแนวคิดครอบครัว
จะมีหลักความกตัญญูอันเป็นหลักการสำคัญของปรัชญาขงจื่อซึ่งสามารถแสดงออกได้หลาย
รูปแบบ แม้ในยามที่บุพการีสิ้นชีวิตแล้ว ก็ยังสามารถแสดงความกตัญญูได้โดยการไว้ทุกข์และ
แสดงความเศร้าโศกที่ออกมาจากจิตใจที่แท้จริง ดังตัวบทที่ว่า “การไว้ทุกข์แห่งวิญญูชน หากได้
ทานโภชนาอันโอชะก็จะมิรู้สึกอร่อย ได้ฟังดนตรีอันเสนาะก็จะมิรู้สึกสำราญ พำนักในนิวาส
อันโอฬารก็มิรู้สึกสบายตัว” (คัมภีร์หลุนอวี่, 2549:330) และ “ปกติคนเราจะไม่แสดงความรู้สึก
ที่แท้จริงออกมา หากจะมีก็คงเป็นเพลาที่สูญเสียบุพการีแล” (คัมภีร์หลุนอวี่, 2549:345)
นอกจากนี้ขงจื่อยังได้โยงหลักความกตัญญูที่มีในครอบครัวมาสู่การบริหารบ้านเมืองในโครงสร้างที่
ใหญ่กว่าด้วย ดังตัวบทที่ว่า
มีคนถามขงจื่อว่า “ไฉนท่านไม่ทำงานบริหารบ้านเมือง?” ขงจื่อตอบว่า “ในคัมภีร์
ซั่งซูกล่าวว่าผู้ที่รู้กตัญญู ก็จักอารีต่อภาดา ดังนั้นหากสามารถทำได้ดีในระดับครอบครัว
เช่นนี้ก็ถือเป็นการบริหารบ้านเมืองแล้ว ฉะนั้น ข้าไยต้องรับราชการแล้วจึงจะถือว่า
เป็นการบริหารบ้านเมืองด้วยเล่า?” (คัมภีร์หลุนอวี่, 2549:132) เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย