Page 241 - kpi15476
P. 241
240 การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง บุคคลหนึ่งอาจมีหลายบทบาทและหน้าที่ที่ขัดแย้งในเวลา
เดียวกัน จากการศึกษาตัวบททั้งสองปรัชญาก็มีการคำนึงถึงปัญหาข้อนี้เช่นกัน โดยมีประเด็นการ
มองเรื่องความขัดแย้งระหว่างบทบาทหน้าที่ในสถานการณ์เฉพาะที่บุคคลต้องเลือกว่าจะปฏิบัติ
ตามหน้าที่ใดของตนมากกว่ากัน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างสองปรัชญาในมุมมองการจัด
ความสำคัญของตำแหน่งทางสถานภาพที่คาบเกี่ยวกันระหว่างบทบาทของความสัมพันธ์ใน
ครอบครัวและบทบาทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง
โดยปรัชญาฮินดูในมหาภารตยุทธจะมีความคิดที่ว่า ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะกษัตริย์ พราหมณ์
แพศย์และศูทรพึงปฏิบัติตนให้สมกับฐานะในระบบวรรณะเป็นสำคัญ ซึ่งการแบ่งประเภทของคน
เช่นนี้จะเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพทางการเมือง เฉกเช่นผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครอง
มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นและคุ้มครองให้ผู้ใต้ปกครองในวรรณะอื่นๆ ปฏิบัติ
ตามพันธะหน้าที่ของตนเองในสังคม ดังนั้นการให้ความสำคัญกับหน้าที่ของคนในโครงสร้างใหญ่จึง
เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ให้ความสำคัญกับหน่วยย่อยใน
สังคมอย่างครอบครัว เพียงแต่จะมองว่าครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยย่อยจะคงอยู่ได้นั้นจำเป็นต้องมีรัฐ
ที่เป็นปึกแผ่นและมั่นคงเสียก่อน จึงให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ต่อรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งจะมีความ
แตกต่างจากปรัชญาขงจื่อในแง่ที่ว่า หากบุคคลจำเป็นต้องเลือกในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันระหว่าง
บทบาทหน้าที่ต่อรัฐกับบทบาทหน้าที่ต่อบิดามารดาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ความชอบธรรม
ในฐานะแห่งบุตรจะถูกให้ความสำคัญเหนือสถานภาพทางการเมืองอื่นใดทั้งสิ้น เพราะปรัชญา
ขงจื่อจะให้ความสำคัญในหน้าที่ต่อครอบครัวเป็นอันดับแรกบนฐานความกตัญญู และมองว่า
แม้ครอบครัวจะถือเป็นหน่วยย่อยของสังคม แต่หากทุกครอบครัวทำให้โครงสร้างหน้าที่ของ
ครอบครัวมีความสมบูรณ์ ก็จะส่งผลให้สังคมหรือรัฐโดยรวมมีความสงบสุข เพราะครอบครัวถือ
เป็นรากฐานของสังคมการเมือง ปรัชญาขงจื่อจึงเป็นปรัชญาที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสูงสุดบนฐาน
ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว (Filial Piety)
บทวิเคราะห์เปรียบเทียบมโนทัศน์เชิงจริยศาสตร์ของความ
สัมพันธ์ในครอบครัว: มหาภารตยุทธกับคัมภีร์หลุนอวี่
บทวิเคราะห์เปรียบเทียบมโนทัศน์เชิงจริยศาสตร์ของความสัมพันธ์ในครอบครัวในความคิด
ทางการเมืองระหว่างปรัชญาฮินดูในมหากาพย์มหาภารตยุทธกับปรัชญาขงจื่อในคัมภีร์หลุนอวี่
โดยเปรียบเทียบในสามประเด็นที่สำคัญที่ได้จากการศึกษาตัวบท ได้แก่ เปรียบเทียบประเด็น
จริยศาสตร์ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเมือง
เปรียบเทียบประเด็นการให้สัจจะวาจาในครอบครัวที่สัมพันธ์กับกฏเกณฑ์ทางสังคม และเปรียบเทียบ
เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย
ประเด็นการรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดกับการอำพรางความผิดของคนในครอบครัว