Page 88 - kpi15476
P. 88

การประชุมวิชาการ
                                                                                          สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15


                      พระคุณธรรม



                            บัดนี้ขอนำเสนออย่างสังเคราะห์ถึงพระคุณธรรมให้กว้างออกไปกว่าที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็น

                      5 ชุดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาระของการประชุมครั้งนี้ โดยทดลองพิจารณาพระคุณธรรมเหล่านี้
                      ในกรอบของคติธรรมราชา เท่าที่ผมจะมีปัญญาทำได้


                         1. สันติวิธีในพระราชจริยวัตร


                              พระองค์เสด็จผ่านพิภพและทรงเข้าสู่วัยรุ่นในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ที่สยาม
                      เสี่ยงต่อการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ซึ่งในสถานการณ์นั้น สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรง

                      หลีกเลี่ยงการสงครามด้วยการทรงยอมสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ และเอกราชของชาติไว้
                      ดังนั้น ทั้งเอกราชของชาติและสันติวิธี อีกทั้งความพร้อมที่จะเสียสละ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้

                      พระราชหฤทัยขององค์ประชาธิปกมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังมีข้อสังเกตจากพระราชประวัติในช่วง
                      ที่ทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอีตันว่า ไม่โปรดการใช้กำลัง หากแต่ทรงเอาชนะใจผู้คนได้ด้วยพระเสน่ห์
                      และพระคุณธรรมประจำพระหฤทัย แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าเมื่อแรกทรงเป็นนายทหารที่อังกฤษจะทรง

                      ปฏิเสธการสงครามโดยสิ้นเชิง หากแต่ได้ทรงแสดงความพร้อมที่จะเสด็จสู่สนามรบเยี่ยงทหาร
                      หาญในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทรงอาสาเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะทรงเห็นถึง

                      อธรรมของการที่ประเทศใหญ่ ได้เข้ารังแกประเทศเล็ก ครั้นเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรง
                      เลือกสันติวิธีทั้งในการทรงวางรูปการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความ
                      ขัดแย้งรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน ในกรณีที่คณะราษฎรได้ยึด

                      อำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยพลัน และในช่วงหลังจากนั้น ก็ได้ทรงพระขัตติยะมานะ
                      อดกลั้นพระราชหฤทัยเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง ทั้งยังได้ทรงแนะนำให้เจรจาความกัน

                      โดยสันติ แต่เมื่อไม่เป็นผล จึงทรงเลือกที่จะทรงปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ซึ่งประการหนึ่ง
                      เป็นการป้องกันมิให้มีการเสียเลือดเนื้อ แต่แล้วพระชะตาชีวิตได้กำหนดให้ต้องทรงเผชิญกับความ
                      ยากลำบากของภาวะสงครามโลกครั้งที่สองในต่างแดนจนเสด็จสวรรคต


                         2. พระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้


                              แม้พระองค์จะมิได้ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ในด้านใดด้านหนึ่งเป็น

                      การเฉพาะ ก็ได้ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์และตลอดพระชนมชีพ ในการ
                      ทรงศึกษาเรียนรู้สาระที่หลากหลายตั้งแต่อักษรศาสตร์ถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งจากการ

                      ทรงพระอักษรและการทรงสนทนาวิสาสะกับผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ รวมทั้งทรงเรียนรู้ด้วย
                      พระองค์เองจากการปฏิบัติจริง โดยทรงมุ่งหาเหตุของสิ่งและปรากฏการณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงทรง
                      สามารถมีพระราชทัศนะในเรื่องราวต่างๆ ที่ต้องทรงมีพระบรมราโชบาย แต่ก็ทรงยอมรับอย่าง

                      ตรงไปตรงมาว่าทรงมีข้อจำกัดในความรู้บางด้าน เช่น การทหารเรือและเศรษฐกิจ การศึกษา
                      จึงเป็นเรื่องที่สนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ด้วยทรงเห็นว่าสำคัญต่อการสร้างความเป็นคนที่มี

                      เหตุผล ความคิดอ่านไม่ถูกชักจูงได้โดยง่าย ตลอดจนมีศีลธรรมจรรยา                                      เอกสารประกอบการอภิปราย
   83   84   85   86   87   88   89   90   91   92   93