Page 101 - kpi21595
P. 101
กรณีของแกนนำพลเมืองก็เช่นกัน แม้จะได้เข้ารับการอบรมโดยตรงจากสถาบันพระปกเกล้า กระนั้น
ด้วยข้อจำกัดทางชีวภาพ ความคุ้นเคยกับข้อมูล ก็ทำให้การเรียนรู้เรื่องความสำคัญและบทบาทของ “พลเมือง
ในระบอบประชาธิปไตย” เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังที่แกนนำพลเมืองอำเภอพนมไพรผู้
หนึ่งกล่าวว่า “ตอนแรกที่ฟังก็ยังไม่เข้าใจ จับต้นชนปลายไม่ถูก อู้ยยไปจนกระทั่งจะเสร็จนั่นแล่ะ” การเข้ารับ
การอบรมในระยะเวลาที่จำกัดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเลือกจดจำสิ่งที่มีความสอดคล้องกับประสบการณ์
ของตนเป็นอย่างแรกและเลือกที่จะนำสิ่งนั้นไปถ่ายทอดต่อ อาทิ แกนนำพลเมืองจากอำเภอพนมไพรข้างต้น
กล่าวว่าภายหลังการอบรมเธอเข้าใจว่าพลเมืองคือ “คนที่รู้จักกาลเทศะ เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปัน เดี๋ยวนี้
คนเห็นแก่ตัวเยอะ ก็ต้องเอาสิ่งดีๆ แบ่งให้แก่กัน นี่แหล่ะพลเมือง” ขณะที่แกนนำพลเมืองอำเภอเมืองร้อยเอ็ด
กล่าวว่า “ถ้าพูดถึงพลเมืองต้องแยกออกก่อนระหว่างคำว่า พละ - กำลัง และ เมือง ที่อาศัยของประชาชน เมื่อ
รวมกันแล้วคือกำลังสำคัญของการอยู่ร่วมกัน หมายความว่า ที่ไหนมีความเจริญในการบริหารจัดการก็จะทำให้
บ้านเมืองนั้นเจริญก้าวหน้าไปได้ พลเมือง คือผู้นำ ประชาชน รองลงมา ราษฎรคือคนที่ใช้แรงงาน พลเมืองเป็น
การยกระดับราษฎรขึ้นมาให้เป็นพลเมือง ให้มีกำลังช่วยเมืองให้แข็งแรง มีกำลังที่จะช่วยกันพัฒนาให้แข็งแรง
ต่อไป” ด้านแกนนำพลเมืองอำเภอเสลภูมิกล่าวว่า “พลเมืองคือประชาชนที่ตื่นรู้ ไวต่อการเปลี่ยนแปลงทาง
สังคม ไม่ว่าเรื่องสิทธิหน้าที่ ปัญหาความต้องการ พลเมืองมีความสำคัญเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทพัฒนา
ประเทศในทุกด้าน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับภาครัฐ เช่น พลเมืองสามารถเรียกร้องหรือต่อต้าน
การสร้างมลพิษ หรือทักท้วงหน่วยงานราชการที่กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ส่วนแกนนำพลเมืองอำเภอ
ปทุมรัตต์มองว่า พลเมืองคือ “คนที่มีจิตอาสา พร้อมที่จะทำเพื่อชุมชนของตน ซึ่งมันทำได้โดยเริ่มต้นจาก
ตนเอง ไม่ต้องใช้เงิน ยิ่งทำยิ่งสามัคคี ชวนเยาวชนไปเก็บขยะในหมู่บ้านไม่ต้องใช้งบ ขับรถไปเก็บขยะ แค่สละ
เวลา เราสามารถขับเคลื่อนได้เลยเราอยู่ที่ไหนก็ทำได้เลย”
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า แกนนำพลเมืองของอำเภอนำร่องทั้ง 4 แห่งมีความรู้ความเข้าใจว่าพลเมืองคือ
ใครพึงมีบทบาทอย่างไร ทั้งยังสามารถถ่ายทอดความเข้าใจของตนต่อเรื่องดังกล่าวสู่ผู้อื่นได้เป็นอย่างดี โดยไม่
มีความแตกต่างกันระหว่างในอำเภอที่ประชากรตัวอย่างมีคะแนนความเป็นพลเมืองเปลี่ยนแปลงไปในระดับ
มากปานกลางและน้อย อย่างไรก็ตาม จะพบได้ว่าแกนนำพลเมืองแต่ละคนจะมีจุดเน้นในการจดจำและ
นำเสนอที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ขณะที่แกนนำพลเมืองจากอำเภอเมืองร้อยเอ็ดจะเน้นไปที่การยกระดับจิตใจ
และสำนึกพลเมือง แกนนำพลเมืองจากอำเภอพนมไพรเน้นไปที่การเสียสละและการแบ่งปัน ขณะที่ แกนนำ
พลเมืองจากอำเภอเสลภูมิเน้นไปที่ความกระตือรือร้นการใฝ่รู้ตื่นรู้และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนแกนนำ
พลเมืองในอำเภอปทุมรัตต์เน้นไปที่มิติของการลงมือปฏิบัติโดยเริ่มต้นจากตนเองในกิจกรรมเล็กๆน้อยๆใน
ชีวิตประจำวัน
จากข้อจำกัดเรื่องความทรงจำ ความเข้าใจ และประสบการณ์ของแกนนำพลเมืองที่มีแนวโน้มต่อการ
เลือกรับเลือกจำและเลือกถ่ายทอดความรู้เรื่องพลเมืองสู่ชุมชนข้างต้น ส่งผลให้การถ่ายทอดความรู้เรื่องความ
เป็นพลเมืองสู่คนในชุมชนโดยแกนนำพลเมืองยังไม่เป็นระบบและไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาการ จึงเป็นไปได้ว่า
คะแนนความเปลี่ยนแปลงความเป็นพลเมืองของประชากรตัวอย่างในอำเภอนำร่องที่พบว่าไม่เพิ่มขึ้นภายหลัง
ปฏิบัติการเสริมสร้างพลังพลเมืองโดยแกนนำพลเมืองนั้นอาจเกิดจากข้อจำกัดดังกล่าวประการหนึ่ง
90