Page 103 - kpi21595
P. 103
ระดับอำเภอ อยู่ไม่ได้ขาด และจากที่ผู้วิจัยได้คลุกคลีและทำงานร่วมกับแกนนำพลเมืองอำเภอเสลภูมิผู้นี้มา
ระยะหนึ่งก็พบว่าในการประชุมหลายครั้งแกนนำพลเมืองผู้นี้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากติดภารกิจ
“จิตอาสา” ต่างๆ จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ภาระงานเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการผลักดันกิจกรรม
เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองสู่คนในพื้นที่ของแกนนำพลเมือง
กระนั้น เนื้อหาที่ถ่ายทอด ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากจำเป็นต้องจำกัดปรับเนื้อหาในการนำเสนอให้มีความ
สอดคล้องกับโครงการและกลุ่มเป้าหมายของแต่ละโครงการด้วย เช่นเดียวกันกับแกนนำพลเมืองจากอำเภอ
เสลภูมิที่แม้จะมีโอกาสในการเผยแพร่ความรู้เรื่องพลเมืองผ่านการเป็นวิทยากรรับเชิญของหน่วยงานต่างๆ
กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาที่จำเป็นต้องเลือกสรรเฉพาะข้อมูลที่มีความ
สอดคล้องกับโครงการที่ตนได้รับเชิญเป็นวิทยากร จึงทำให้ไม่ครอบคลุมบทบาทและความสำคัญของพลเมือง
ในระบอบประชาธิปไตยในทุกมิติ ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าบางครั้งปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสาระสำคัญเรื่องพลเมือง
ได้ไม่ครบถ้วนนั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการไร้ความสามารถในการถ่ายทอดหรือข้อจำกัดในการจดจำเนื้อหา
ทั้งหมด แต่ยังขึ้นอยู่กับข้อจำกัดด้านภาระกิจที่ทำให้แกนนำพลเมืองไม่สามารถเผยแพร่ความรู้เรื่องความเป็น
พลเมืองได้อย่างจริงจัง
นอกจาก ปัญหาเรื่องภาระหน้าที่แล้ว ผลจากการศึกษายังพบอีกว่าจำนวนโครงการเพื่อส่งเสริมความ
เป็นพลเมืองในระดับพื้นที่มีอยู่น้อยนั้นขึ้นอยู่กับการรวมกลุ่มของแกนนำพลเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
จากผลการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าแกนนำพลเมืองไม่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ แม้จะมีโรงเรียน
พลเมืองเป็นพื้นที่ที่นักเรียนพลเมืองจะสามารถพบปะแลกเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองขึ้นเป็นแกนนำพลเมือง
ให้แก่คนในชุมชนได้ก็ตาม แกนนำพลเมืองจากอำเภอพนมไพรผู้หนึ่งกล่าวถึงปัญหาดังกล่าวว่า “ผมก็ไม่ค่อยมี
เวลาประสาน ให้ ผอ.ท่านประสาน ถ้าเปรียบเทียบกับอำเภออื่น เราก็น่าจะด้อยเรื่องความตั้งอกตั้งใจ” กรณี
ของแกนนำพลเมืองอำเภอปทุมรัตต์ก็เช่นกัน ภายหลังจากการอบรมแล้วพบว่าเหลือแกนนำพลใองอยู่เพียง
คนเดียวที่พยายามผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆในระดับพื้นที่ เขากล่าวว่า “ได้เข้าร่วมโครงการกับสถาบัน
เป็นตัวแทนปทุมรัตต์ พระอาจารย์ได้ส่งไป ก็มีหลายคนส่งไป ทั้งอำเภอสิบกว่าคนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
แต่ตอนนี้เหลือแต่ผมที่ทำโครงการต่อ” จากบทสัมภาษณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าแกนนำพลเมืองนั้นกำลังประสบ
ปัญหาการประสานงานและการขาดผู้ประสานงานในเวลาเดียวกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่
ส่งผลต่อการผลักดันโครงการต่างๆเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองในระดับพื้นที่
ข้อจำกัดประการที่สาม คือเรื่องประสิทธิภาพของโครงการที่แกนนำพลเมืองเลือกดำเนินการในพื้นที่
ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาจากรูปแบบของโครงการที่แกนนำพลเมืองเลือกดำเนินการในพื้นที่ว่าสามารถส่งผลต่อ
การสร้างสำนึกพลเมืองสู่คนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด กล่าวคือ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนโครงการที่มีอยู่
อย่างจำกัดอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงความเป็นพลเมืองแก่คนในพื้นที่ กระนั้น
นอกเหนือจากจำนวนโครงการที่มีจำกัดแล้ว รูปแบบของโครงการที่แกนนำพลเมืองเลือกดำเนินการในพื้นที่ก็
ควรได้รับการวิเคราะห์ด้วยเนื่องจากจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการสร้างสำนึกพลเมือง
ดังนั้น ลำดับถัดไปผู้วิจัยจะขอกล่าวถึงรูปแบบการสร้างความเป็นพลเมืองของโครงการแต่ละประเภท
ช่องทางที่โครงการเหล่านั้นสามารถส่งเสริมและสร้างความเป็นพลเมืองสู่คนในชุมชน ตลอดจนข้อจำกัดที่พบ
92