Page 110 - kpiebook62010
P. 110

103






                             แต่ในทางปฏิบัติ จะมีการพิสูจน์ทราบหรือระบุตัวได้อย่างไรว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือ

               ผู้ครอบครองสัตว์นั้น โดยเฉพาะกรณีของสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขและแมว อาจจะมีกรณีที่เจ้าของสัตว์นั้นไม่ต้องการที่จะ
               รับผิดชอบสัตว์ของตน โดยไม่ใส่ปลอกคอ และปล่อยให้สุนัขหรือแมวของตนเที่ยวเล่นอยู่ในที่สาธารณะ หากสุนัข
               หรือแมวนั้นก่อความเสียหายให้แก่ผู้อื่น ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าตนเป็นเพียงผู้ให้อาหารสัตว์นั้น ไม่ใช่

               เจ้าของก็ได้ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นเสมือน “เจ้าของสัตว์อำพราง” เพื่อจะได้ไม่ต้องมีความ
               รับผิดชอบใดๆ ในทางกฎหมาย 12


                             นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกประการ คือเรื่องของสัตว์จร หรือสัตว์ไม่มีเจ้าของแต่มีผู้อุปการะ
               ให้อาหารหรือให้ที่พักพิง จนสัตว์นั้นเป็นสัตว์ติดที่และก่ออันตรายให้แก่บุคคล โดยบุคคลที่อุปการะสัตว์นั้นไม่ต้อง
               รับผิดชอบในการกระทำของตน ทั้งที่การนั้นสร้างปัญหาทั้งความเสียหายโดยตรงต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น และ

               ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขอนามัยรวมถึงก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสัตว์ที่อุปการะอยู่
               เป็นสัตว์ติดที่นั้นด้วย


                             เคยมีความพยายามของส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหากรณีของเจ้าของสัตว์อำพรางและกรณี
               การอุปการะให้อาหารหรือที่พักพิงสุนัขจร โดยกรุงเทพมหานครเคยออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2548

               โดยข้อ 5 บทนิยามศัพท์ของข้อบัญญัติดังกล่าว นิยามคำว่า “เจ้าของสุนัข” หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสุนัข
               หรือผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่เลี้ยงและให้อาหารสุนัขจรจัดใน
               พื้นที่ใกล้เคียงกับที่พักอาศัย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าบทนิยามศัพท์ดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก
               เป็นการห้ามไม่ให้ประชาชนเลี้ยงหรือให้อาหารแก่สุนัขจรจัดในที่หรือทางสาธารณะอันเป็นการขัดต่อพื้นฐานความ

               มีเมตตาของมนุษย์ ซึ่งการปฏิบัติตามข้อบัญญัติดังกล่าวฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและไม่สามารถปฏิบัติได้ อันทำให้
               เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องกระทำผิดต่อกฎหมายโดบไม่สมควร ดังนั้น ข้อบัญญัติดังกล่าวจึงกระทบต่อสิทธิของ

               กลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ฟ้องคดี ซึ่งในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่
               อ. 764/2556 วินิจฉัยในประเด็นเรื่องนิยามของคำว่า “เจ้าของสุนัข” ว่า การให้บทนิยามดังกล่าวมีผลทำให้
               ประชาชนที่เพียงแต่ให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตาต้องมีภาระหน้าที่ในการพาสุนัขจรจัดไปฝัง
               ไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้นอาจทำให้บุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่หน้าที่ในการจัดการ ควบคุม

               ดูแลสุนัขจรจัดเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพมหานคร) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับผลักภาระมาให้
               ประชาชน การให้บทนิยามของคำว่า “เจ้าของสุนัข” ที่ให้หมายความรวมถึง ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย
               จึงเป็นข้อบัญญัติที่สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับปะชาชนเกินสมควรและไม่ชอบด้วย

               กฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนบทนิยามของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว 13





               
     12   นพดล ปกรณ์นิมิตดี. กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ บทสะท้อนมุมมองที่หายไปต่อกรณีเจ้าของสัตว์อำพราง.
               มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 2560, สืบค้นจาก :https://www.matichon.co.th/news/537938

               
     13   คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 764/2556 คดีหมายเลขดำที่ อ. 628/2554. ศาลปกครอง. สืบค้น
               เมื่อ มิถุนายน 2560, สืบค้นจาก : http://admincourt.go.th/admincourt/upload/admCase/Document/judgement/PDF/
               2554/01012-540628-1F-561107-0000124029.pdf









                       ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
   105   106   107   108   109   110   111   112   113   114   115