Page 109 - kpiebook62010
P. 109
102
กรกช ม่วงกล่ำ ที่ได้ศึกษาไว้ว่าปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุนัขอย่างไม่เหมาะสมจนสุนัขกลายเป็นสัตว์ดุ
จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย
ที่เกี่ยวกับการควบคุม ดูแลการเลี้ยงสุนัขอันจะสามารถใช้บังคับเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมดูแล
สุนัขได้ นอกจากการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่หลายฉบับมาบังคับใช้ แต่กฎหมายแต่ละฉบับ
ก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้บังคับที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ก่อปัญหาและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาดังกล่าว
เห็นได้จากข่าวความเสียหายอันเกิดจากสุนัขซึ่งมีมากขึ้นในอดีตและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นหากไม่มีมาตรการ
ทางกฎหมายในการควบคุมดูแลสุนัขที่เหมาะสม 10
อย่างไรก็ตาม การกำหนดโทษทางอาญาในกรณีที่เจ้าของสัตว์ปล่อยปละละเลยสัตว์ของตน
จนเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นนั้น จะต้องพิจารณาอัตราโทษให้รอบคอบ เนื่องจาก
หากกำหนดโทษไว้สูงเกินไป อาจจะส่งผลในทางกลับกันซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสวัสดิภาพสัตว์ หรือทำให้สัตว์ถูก
ทารุณกรรมได้
นพดล ปกรณ์นิมิตดี ตั้งข้อสังเกตว่า การลงโทษทางอาญา แก่เจ้าของสัตว์ ที่ปล่อยปละละเลย
อาจไม่ใช่แนวทางที่ดีพอควร เพราะสัตว์อย่างไรก็คือทรัพย์สิน สัตว์บางประเภท เช่น สุนัข เจ้าของที่เลี้ยงดูมาตั้ง
แต่เกิดยังโดนกัดเสียเองก็มี เช่นนี้การบังคับใช้โทษทางอาญาแก่เจ้าของสัตว์อาจเป็นการบังคับให้เจ้าของสัตว์ทารุณ
กรรมสัตว์ทางอ้อม โดยการกักขังหรือใส่กรงขังไว้ เพราะกลัวสัตว์หนีประเด็นนี้ อาจถูกกลุ่มผู้รักสัตว์เห็นค้านได้ 11
และที่สำคัญ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเอาผิดหรือเรียกร้องความรับผิดชอบจาก
เจ้าของสัตว์ที่เป็นอันตรายหรือก่อความเสียหายให้แก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลได้ ก็เนื่องมาจาก
ปัญหาเรื่องการสืบทราบหรือระบุตัวเจ้าของสัตว์ ที่จะได้เสนอต่อไป
5.2.4 ปัญหาการระบุตัวเจ้าของสัตว์ และการอุปการะดูแลสัตว์จร
การที่จะจัดสวัสดิภาพสัตว์ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือการห้ามมิให้เจ้าของสัตว์
ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 23 นี้ก็ตาม
หรือแม้แต่การกำหนดสภาพบังคับและโทษสำหรับผู้ที่ไม่ดูแลสัตว์ และปล่อยปละละเลยให้สัตว์ของตนก่ออันตราย
ให้แก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้อื่น การดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่ควรจะต้องรับผิดชอบ
ต่อสัตว์นั้น สิ่งที่สำคัญประการแรกคือ จะต้องสามารถพิสูจน์หาหรือระบุตัวเจ้าของสัตว์ให้ได้เสียก่อน
นิยามของคำว่า “เจ้าของสัตว์” ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายความว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ และ
ให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของ
กรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย
10 กรกช ม่วงกล่ำ. มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยง : ศึกษาเฉพาะกรณีสุนัข. (2553) กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต. หน้า ฆ – ง
11 นพดล ปกรณ์นิมิตดี. อ้างแล้ว
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557