Page 111 - kpiebook62010
P. 111
104
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ คือพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์
พ.ศ. 2558 นิยามของคำว่า “เจ้าของสัตว์” ในกรณีของสัตว์หากไม่ปรากฏเจ้าของหรือไม่สามารถหาเจ้าของได้
ให้หมายรวมถึงผู้เลี้ยง ผู้ให้ที่อยู่อาศัย และผู้ควบคุมสัตว์ด้วย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของสัตว์
ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระบบการป้องกันและควบคุมโรคระบาด เช่นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อมี
สัตว์ป่วยหรือสัตว์ตายด้วยโรคระบาดหรืออาจจะป่วยหรือตายเพราะโรคระบาด และจัดการต่างๆ กับสัตว์หรือ
ซากสัตว์ที่เป็นโรคระบาด แต่อย่างไรก็ตาม การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีโทษทางอาญาเพียงจำคุกไม่เกิน
หนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษเท่านั้น
ในเรื่องนี้ เกียรติยศ โรเยอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ให้ความเห็นในกรณี
ที่หากจะกำหนดบทสันนิษฐานว่าผู้ที่ให้อาหารหรือให้ที่พักสัตว์ถือเป็นเจ้าของสัตว์ที่จะต้องมีความรับผิดทาง
กฎหมายว่า มีข้อพิจารณาว่าหากกำหนดในลักษณะดังกล่าวไว้ในกฎหมายนี้แล้ว ต้องพิจารณาว่าบทบัญญัติ
ดังกล่าวจะใช้บังคับกับสัตว์ทุกชนิด หากกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่ให้อาหารสัตว์เป็นประจำนั้นถือเป็นเจ้าของสัตว์
เช่นนี้คนให้อาหารนกก็จะเป็นเจ้าของนก ผู้ที่ให้อาหารกระรอกก็จะเป็นเจ้าของกระรอก ซึ่งสัตว์บางชนิดเป็นสัตว์
คุ้มครองที่ให้เป็นเจ้าของไม่ได้ รวมถึงกรณีของการให้อาหารสัตว์ของคนอื่น ก็จะถือว่าเป็นเจ้าของสัตว์ของคนอื่น
ไปด้วยหรือไม่ ซึ่งสถานะของสัตว์จรจัด ไม่ว่าสุนัขแมวหรือสัตว์ใดนั้นในทางกฎหมายถือว่ามีสถานะเหมือนกันหมด
ถ้าพิจารณาว่าผู้ที่ให้อาหารแก่สุนัขจะต้องรับผิดชอบหากสุนัขนั้นไปกัดใคร แล้วผู้ที่ให้อาหารแก่ตะกวดหรืองู
จะต้องรับผิดชอบหรือไม่หากสัตว์เหล่านั้นไปกัดใคร ดังนั้นหากกำหนดไว้ในกฎหมาย ก็อาจจะมีปัญหาในการบังคับ
ใช้จริงนั้นอาจจะกระทำไม่ได้ นอกจากนี้สัตว์เร่ร่อนโดยเฉพาะสุนัขนั้นเกิดจากการที่คนที่เลี้ยงสัตว์นั้นเองนำสัตว์
ไปทิ้งไว้ ในทางกลับกัน หากไม่มีคนให้อาหารสัตว์จรจัด ปัญหาเรื่องสุนัขกัดคนจะลดลงหรือไม่ หรืออาจจะทำให้
ปัญหานั้นทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะสัตว์หรือสุนัขนั้นอาจจะหิว การที่มีผู้เอาอาหารไปให้สุนัข ในอีกทางหนึ่ง
ทำให้สุนัขนั้นเชื่อง ไม่กลายเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์ดุร้าย 14
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการระบุตัวเจ้าของสัตว์ที่ดีและเป็นไปได้ที่สุดในทางปฏิบัติ คือการขึ้นทะเบียน
สัตว์และเจ้าของหรือผู้เลี้ยงสัตว์ในประเด็นนี้ ธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความเห็นว่าที่
กฎหมายฉบับนี้ยังมีช่องว่างอยู่ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ยกเว้นสัตว์ที่บังคับ
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 กำหนดให้ต้องตีตั๋วรูปพรรณ ซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ
ลา แต่ไม่รวมถึงสุนัข เมื่อเกิดปัญหาผู้เลี้ยงทอดทิ้ง กลายเป็นสุนัขจรจัด ก็ไม่มีผู้รับผิดชอบในกรณีที่สุนัขนั้นไปกัด
หรือทำลายสิ่งของ ดังนั้นจึงควรต้องมีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง 15
สอดคล้องกับความเห็นของเกียรติยศ โรเยอร์ โลหนันทน์ ที่ว่า ควรมีการกำหนดไว้ในพระราช
บัญญัติฉบับนี้ กำหนดว่าจะต้องให้เจ้าของสัตว์มาขึ้นทะเบียน โดยหากเจ้าของสัตว์ไม่มาขึ้นทะเบียน ก็จะ
ไม่สามารถครอบครองหรือดูแลสัตว์อะไรได้เลย ซึ่งคำว่าเจ้าของสัตว์นั้นต้องรวมหมดถึงภาคธุรกิจ ผู้เลี้ยงสัตว์
14 เกียรติยศ โรเยอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย (สัมภาษณ์, 28 มิถุนายน 2560)
15 Parliament IPTV1. (มกราคม 2560). บันทึกการสัมมนา “หมากัดคน คนทำร้ายหมา แก้ปัญหาอย่างไร” 17 มิ.ย 59.
Video posted tohttps://youtu.be/7Q1Xrdk5Qg0
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557