Page 117 - kpiebook62010
P. 117

110






               ยังขาดรายละเอียดให้ประชาชนเข้าใจว่า ลักษณะการกระทำใดบ้างที่ถือเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์ที่ต้องห้ามตาม

               กฎหมาย

                     ทั้งนี้ โทษในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน และ

               มีโทษที่สูงกว่าระดับโทษเดิมที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ แต่ความผิดดังกล่าวก็เป็น
               ความผิดที่อัตราโทษไม่สูงนัก ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลแขวง และเป็นอัตราโทษที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หาก

               จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาล และในการดำเนินคดีที่ผ่านมา จำเลยในคดีนี้ก็มักจะรับสารภาพ และไม่ต่อสู้
               ในประเด็นว่าการกระทำของตนไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ จึงไม่ปรากฎว่ามีคำพิพากษาตามกฎหมายนี้ถึงที่สุด
               ในชั้นฎีกา ทำให้ขาดบรรทัดฐานในบางประเด็นที่ยังต้องตีความอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นว่า การฆ่าสัตว์ที่เป็น
               ความผิดตามกฎหมายฉบับนี้นั้นถือเป็นเจตนาทารุณกรรมในตัวหรือไม่ หรืออาจแยกเจตนาฆ่าสัตว์กับเจตนาใน

               การทารุณกรรมสัตว์ออกจากกันได้

                     นอกจากนี้ ในการบังคับใช้กฎหมาย ก็ยังปรากฎว่ามีปัญหาในการบังคับใช้อยู่หลายประการ นอกจากปัญหา

               เรื่องนิยามและรูปแบบของการทารุณกรรมสัตว์แล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องผลทางกฎหมายว่ามนุษย์จะทำการตอบโต้
               หรือป้องกันในกรณีที่ได้รับอันตรายหรืออาจได้รับอันตรายจากสัตว์ได้หรือไม่ แค่ไหน เพียงไร ปัญหาเกี่ยวกับ

               การขาดมาตรการสำหรับผู้ที่ไม่ดูแลสัตว์ และปล่อยปละละเลยให้สัตว์ของตนก่ออันตรายให้แก่ชีวิต ร่างกาย หรือ
               ทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องการระบุตัวเจ้าของสัตว์ และการอุปการะดูแลสัตว์จร ซึ่งปัญหา
               ดังกล่าวทำให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายนี้มีแง่มุมที่มุ่งแต่จะเอาโทษแต่ผู้ที่ทำร้ายหรือกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์
               โดยขาดมิติเรื่องความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์หรือคนรักสัตว์ และสุดท้าย คือที่ปัญหาเกี่ยวกับความพร้อมและ

               การปฏิบัติภารกิจบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ที่จะต้อง
               บังคับใช้กฎหมายนี้ให้เป็นผลจริงในทางปฏิบัติ


                     อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลที่ได้จากการสัมภาษณ์และสอบถามผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่ใช้กฎหมายนี้
               ในการทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์หรือป้องกันการทารุณกรรมต่อสัตว์ ก็เห็นว่ากฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายที่ดี

               ถือเป็นแม่บทในการวางรากฐานเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์และคุ้มครองป้องกันสัตว์จากการกระทำทารุณกรรม
               ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหากมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในข้อที่เป็นอุปสรรคบางประการแล้ว สถานการณ์ของการดูแล
               จัดสวัสดิภาพสัตว์และการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต


                     ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงประมวลข้อเสนอแนะ พร้อมข้อเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมายที่ยกร่างขึ้น
               ในลักษณะของกฎหมายต้นแบบ เพื่อประกอบข้อเสนอแนะต่างๆ ดังต่อไปนี้


               6.2 ข้อเสนอแนะ และข้อเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมาย


                     จากที่ได้วิเคราะห์ปัญหาในการใช้บังคับของกฎหมายทั้งห้าประการไปแล้วตามข้อ 5.2 จึงมีข้อเสนอแนะ

               ในการปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
               พ.ศ. 2557 เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งหมดห้าข้อ ดังต่อไปนี้











                       ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
   112   113   114   115   116   117   118   119   120   121   122