Page 83 - kpiebook65010
P. 83
แนวทางและวิธีการวิเคราะห์
ผลกระทบทางสังคมในการตรากฎหมาย
ในส่วนที่เกี่ยวกับการระบุผลกระทบของทางเลือกนั้น ควรระบุทั้งผลกระทบ
ทั้งด้านดีและร้าย เช่น ต้นทุนหรือผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งควรพิจารณา
ด้วยว่าการใช้ข้อเสนอเชิงนโยบายอาจเป็นผลดีต่อฝ่ายหนึ่งแต่อาจเกิดผลร้ายต่ออีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงควรระบุด้วยว่าฝ่ายใดที่จะได้หรือเสียผลประโยชน์
ในช่วงสุดท้ายของการวิเคราะห์ในขั้นตอนนี้ ควรดำเนินการแจกแจงหรือสรุป
บรรดาผลกระทบทางลบและทางบวกโดยแสดงระดับ ความเป็นไปได้และบุคคลที่อาจได้รับ
ผลกระทบให้ชัดเจน โดยอาจระบุและสรุปการแจกแจงผลกระทบในลักษณะต่อไปนี้ก็ได้
๏ ลักษณะของผลกระทบในภาพรวม เช่น ในด้านสังคม เศรษฐกิจและ
สิ่งแวดล้อม
๏ ลักษณะของผลกระทบเฉพาะด้านในรายละเอียด เช่น ในด้านการเพิ่มหรือ
ลดของต้นทุนการปฏิบัติตาม อาจระบุว่าใครเป็นผู้แบกรับต้นทุนดังกล่าว
(ภาคเอกชน ธุรกิจ หรือประชาชน) และมีองค์ประกอบที่เป็นต้นทุนย่อย
เช่น ภาระในการปฏิบัติตามหน้าที่ และต้นทุนด้านแรงงานและอุปกรณ์
ที่จะเพิ่มเข้ามา หรือไม่ รวมทั้งมีต้นทุนการจัดการและบังคับการโดย
หน่วยงานของรัฐเกิดขึ้นกับหน่วยงานใดหรือไม่ จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อ
ประสิทธิภาพในการดำเนินการของระบบตลาด (market efficiency)
การแข่งขัน นวัตกรรม ผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ระดับของการศึกษาและฝึกอบรม สิทธิขั้นพื้นฐาน การจ้างงาน ด้านทักษะ
และด้านการคำนึงถึงทุกคนในสังคมและความยากจนหรือไม่
๏ ความสัมพันธ์กับมาตรการหลักที่มีการดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่แล้ว เช่น
ผลกระทบโดยตรงต่อมาตรการที่มีการดำเนินการอยู่ก่อนแล้วอันเป็นผล
จากการดำเนินการตามข้อเสนอเชิงนโยบาย ผลกระทบทางอ้อม หรือ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในทอดที่สองอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทาง
พฤติกรรม (behavioral change) จากผลกระทบทางตรงและส่ง
ผลกระทบต่อบุคคลอื่นซึ่งถือเป็นผลกระทบที่สำคัญในทำนองเดียวกับ
ผลกระทบโดยตรง
๏ ฝ่าย กลุ่มหรือพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ เช่น ภาคธุรกิจขนาดกลาง
และขนาดเล็ก (SMEs) พลเมือง ผู้ใช้แรงงาน ผู้เรียน ผู้บริโภค หน่วยงาน
ภาครัฐ ประเทศอื่น ๆ หรือดินแดนอื่น
สถาบันพระปกเกล้า
71