Page 319 - kpiebook65064
P. 319
โครงการสังเคราะห์ข้อเสนอ 269
เพื่อเสริมสร้างการอภิบาลระบบยา
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์แบบสอบถามในภาพรวมของการคัดเลือกยา
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสามกลุ่มจะให้ค่าคะแนนต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และ
ผู้เชี่ยวชาญต่ำสุดเมือเปรียบเทียบกับด้านกฎหมายกับกระบวนการและข้อมูลที่เกี่ยวข้องคือ
มีค่าเฉลี่ย 6.99 เท่านั้น
7.3.2 ความเสี่ยงอันเกิดจากบทบาทและความขัดแย้งของคณะทำงาน
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
การพิจารณานำยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติอยู่บนฐานของประสิทธิภาพกับคุณภาพ
ของยากับฐานความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในหลายกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างคณะทำงาน
ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่พิจารณายาในมิติประสิทธิผลของการรักษา กับคณะทำงานด้าน
เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่พิจารณาในด้านต้นทุน แม้ว่าปัจจุบันมีคณะทำงานประสานผลการ
พิจารณาในบัญชียาหลักแห่งชาติทำหน้าที่หาจุดร่วม อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายยัง
ปรากฏอยู่ ผู้ให้สัมภาษณ์ท่านหนึ่งเห็นว่า คณะกรรมการประสานผลฯ มีบทบาทและอิทธิพลสูง
ในการไกล่เกลี่ยและหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิผลของการรักษาและความคุ้มทุนทาง
เศรษฐศาสตร์เรื่องนี้ แต่ยังเกิดปัญหาเพราะ “วิธีพิจารณาก็จะมีความขัดแย้ง ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่
มองในเชิงลึก มักอยากได้ยาใหม่ เหมือนคนที่เล่นรถ อยากได้รถใหม่ๆ แต่ถ้าทำอย่างนี้แล้วรัฐจ่ายให้
ประเทศแบกไม่ไหว พวกผู้เชี่ยวชาญก็มักเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ทีนี้คณะกรรมการประสานผล
ค่อนข้างจะเป็นตัวที่มีอิทธิพล เพราะเข้ามาประสานความเข้าใจตรงนี้ แต่ก็ยังมียาบางตัว
ที่ผู้เชี่ยวชาญสาขาบางส่วนไม่พอใจที่ไม่ได้ขึ้น เช่น ยาละลายเกล็ดเลือด ที่มีประโยชน์แต่มันแพง
มาก เม็ดละเจ็ดสิบบาท กินทุกวัน เดือนละสองพันหนึ่งร้อยบาทต่อคน เราก็เลยไปใช้ CL บังคับให้
อินเดียมาขายที่ อย. ให้เหลือเม็ดละ 5-6 บาทแทน ถ้าคนที่สุดโต่งก็บอกว่ากินแอสไพรินแทนก็ได้
ตอนหลังก็เดินสายกลางว่าพวกที่ผ่าตัดก็ให้กินได้” 48
นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อพิจารณา
ความเหมาะสมของบัญชียาหลักแห่งชาติร่วมกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่พบว่าอำนาจ
ในการให้เหตุผลและคัดค้านของคณะทำงานเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างมีน้ำหนักและมีอิทธิพลมากใน
การคัดเลือกยา จนเกิดข้อท้วงติงจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มองว่าคณะทำงานด้าน
เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขไม่เข้าใจองค์ความรู้ด้านการรักษา แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์
ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์
49
เต็มตัว หรือบางฝ่ายคัดค้านการคัดเลือกยาที่อาศัยการพิจารณาด้านงบประมาณและต้นทุนทาง
เศรษฐศาสตร์ว่า “ตกลงเราต้องการเอาเข้าบัญชียาหลักเพราะอะไร เพราะเรื่องเงิน หรือเพราะ
ประโยชน์คนไข้ หรือเพราะอะไร ตามหลักวิชาการบอกว่าสมควรเอาเข้ามา แต่พอเอาเข้าบอกว่า
เงินไม่พอ” 50
48 สัมภาษณ์, ผู้ให้สัมภาษณ์ G, วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
49 สัมภาษณ์, ผู้ให้สัมภาษณ์ G, วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และผู้ให้สัมภาษณ์ L, วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
50 ผู้ให้สัมภาษณ์จากภาคเอกชน สัมภาษณ์, ผู้ให้สัมภาษณ์ O และ P, วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
บทที่ 7
สถาบันพระปกเกล้า