Page 106 - kpi15476
P. 106
ธรรมราชา
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.*
ความนำ
นักปกครองที่ได้รับการยกย่องว่า “เป็นผู้ปกครองที่ดี” ตามนัยของ
พระพุทธศาสนานั้น มิได้มีนัยที่แสดงถึงนักปกครองที่เก่งกล้าสามารถโดยการใช้
อาวุธประหัตประหารเพื่อเอาชนะกลุ่มคนและแว่นแคว้นต่างๆ ในอันที่จะได้มาซึ่ง
อำนาจในการปกครอง แต่นักปกครองที่ดีนั้นหมายถึงบุคคลที่ทรงธรรม และ
ทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา หรือศาสตรา
เข้าไปแย่งชิงเพื่อครอบครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ผู้ปกครองใน
ลักษณะนี้ พระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “ธรรมราชา”
กลุ่มคนจำนวนมากรับรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของคำว่า “ธรรมราชา”
จากมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่นาม “พระเจ้าอโศกมหาราช” ที่เริ่มต้นครอบครอง และ
ยึดครองแผ่นดินของประเทศต่างๆ ด้วย “ยุทธวิชัย” แต่ภายหลังได้ตระหนักรู้ถึง
ภัยที่เกิดจากการแย่งชิง และเข่นฆ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการครอบครอง
และปกครอง จึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาสู่การเอาชนะด้วยธรรม หรือ
“ธรรมวิชัย” จนพระองค์ได้รับย่องว่า “ธรรมราชา” เพราะนำหลักธรรมต่างๆ มา
ประยุกต์ใช้ในการปกครองบ้านเมือง
จากแบบอย่างดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างยิ่งใหญ่แก่พระยาลิไท
พระมหากษัตริย์ไทยในยุคสุโขทัยในการปกครองบ้านเมือง หลักฐานชิ้นสำคัญที่
บ่งบอกถึงแง่มุมดังกล่าว คือ “หนังสือไตรภูมิพระร่วง” ที่พระองค์ได้อ้างอิงถึง
หลักการ และแนวทางในการบริหารจัดบ้านเมืองของพระเจ้าอโศกมหาราช
ต่อมาราษฎรจึงถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา”
คำว่า “ธรรมราชา” จึงมีความสำคัญต่อการตั้งพระนามของพระมหา
กษัตริย์ในยุคต่างๆ หลายพระองค์ เช่น พระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระเจ้า
ธรรมิกราช สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และ
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา จากคุณค่าและความสำคัญของ “ธรรมราชา”
ดังกล่าวข้างต้นนั้น บทความนี้ จึงให้ความสำคัญ และพยายามจะตอบคำถามว่า
ธรรมราชาคืออะไร? และการที่จะเป็น “ธรรมราชา” ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้อื่น
หรือประชาชนเกิดความพึงพอใจโดยธรรมนั้น คำว่า “ธรรม” ในบริบทนี้ หมายถึง
ธรรมข้อใดบ้าง
* ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย