Page 210 - kpi15476
P. 210
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 209
(สุรพล ไตรเวทย์, 2549, น.171) ส่วนพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญนั้น ก็เรียกว่าเป็น
พระราชกรณียกิจภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามไปด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การที่
จะกล่าวว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น
มีจำกัด ก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวหากมองในแง่ของนิติราชประเพณีที่ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกัน
มา เนื่องจากนิติราชประเพณีได้มีการให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการที่จะทรงกระทำสิ่งหนึ่ง
สิ่งใดก็ได้ ตามที่ทรงเห็นสมควรว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน โดยมีหลักธรรมที่
พระมหากษัตริย์ทรงยึดถือเป็นสิ่งที่รับรองความชอบธรรมให้กับพระราชอำนาจที่ได้ทรงใช้ ถือเป็น
“พระราชอำนาจโดยธรรม” ที่มีมาแต่เดิม ซึ่งมิได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังที่มีนักวิชาการ
ได้กล่าวไว้ อย่างน่าสนใจว่า
“...พระราชอำนาจดั้งเดิมนี้เป็นพระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอยู่แต่เดิม เมื่อ
มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว อาจทำให้มีการมองว่าพระราช
อำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น คงมีอยู่เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่แท้ที่จริง
แล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยนี้ แต่เดิมมีอยู่อย่างล้นพ้นก็ยังคงมีอยู่
เพียงแต่ว่าจะสามารถนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าการใช้พระราชอำนาจดังกล่าว
สอดคล้องกับหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์
เป็นประมุขหรือไม่เพียงใด รวมทั้งขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพส่วนพระองค์ของ
พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ (Royal Charisma)” (เจษฎา พรไชยา, 2546, น.คำนิยม)
จากคำกล่าวข้างต้น ทำให้เราไม่สามารถที่จะตัดประเด็นของพระราชอำนาจตามนิติราช
ประเพณีออกไปได้ ในที่นี้จึงมุ่งทำการวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงพระราชสถานะและพระราชอำนาจ
ของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญและตาม
นิติราชประเพณี อันจะช่วยให้เห็นภาพความเป็นธรรมราชาและราชาปราชญ์ของพระมหากษัตริย์
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งการที่ยกพระราชสถานะและพระราช
อำนาจทั้ง 2 ทางขึ้นมาวิเคราะห์ร่วมกัน ยังถือว่ามีความเหมาะสมอีกประการหนึ่งคือ ทำให้
เราเห็น “ภาพที่เกิดขึ้นจริง” มิใช่ภาพมายาที่ถูกสร้างขึ้นจาก “ความอยากให้เป็น” เพราะเรา
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตย เมื่อได้กระจายและแพร่หลายออกไปใน
สังคมต่างๆ ก็ย่อมมีการผสมผสานกับโครงสร้างอำนาจ สถาบันทางการเมือง ตลอดจนวัฒนธรรม
ความเชื่อที่ดำรงอยู่ในสังคมต่างๆ เพื่อให้ “แก่น” ของแนวคิดแบบประชาธิปไตย สามารถที่จะ
เจริญเติบโตอยู่ในสังคมนั้นๆ ต่อไปได้ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2549, น.3) ซึ่งในกรณีของ
สังคมไทย จะเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำให้
สอดคล้องกับแนวคิดแบบประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น ในส่วนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถวายน้ำอภิเษก จากเดิมราชบัณฑิตเป็นผู้ถวาย มาเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็น
ผู้ถวาย ภายหลังทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ถวายพระพรเป็นภาษามคธ และ
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถวายพระพรเป็นภาษาไทย (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2549, น.46)
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แสดงให้เห็นให้ถึงกระบวนการ (process) ที่แนวความคิดชุดเก่าและ
แนวความคิดชุดใหม่กำลังพยายามปรับตัวให้ผสานสอดคล้องกัน เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย