Page 276 - kpi15476
P. 276
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 2 5
เกี่ยวโยงไปถึงสิ่งที่อยู่หลังฉากหรือที่จมอยู่ใต้น้ำมากกว่า คือมิใช่เพียงเรื่องหรือปัญหาตัวบุคคล
หรือผู้นำ แต่เป็นปัญหาระดับโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มการเมือง
ดังนั้นการอธิบายที่กระทำผ่านผู้นำ จึงไม่สามารถฉายภาพให้เห็นองค์รวมและพลังที่อยู่
เบื้องหลัง โดยเฉพาะเงื่อนไขหรือปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เพราะขาดฐานระดับกลุ่ม
ที่ทำหน้าที่สำคัญให้กับผู้นำ นอกจากนี้การอธิบายที่ผ่านมาทำเหมือนราวกับว่า กลุ่มการเมือง
แต่ละกลุ่มมีความเป็นเอกภาพสูง และผู้นำสามารถควบคุมกลุ่มของตนและการเมืองได้ค่อนข้าง
เบ็ดเสร็จ ฉะนั้นความขัดแย้งและการต่อสู้จึงเป็นเรื่องของผู้นำเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง
แล้วกลุ่มการเมืองไทยมิได้เป็นเอกภาพมากนัก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้านาย คณะราษฎรหรือกลุ่ม
อื่นๆ ก็ตาม อีกทั้งบทบาทและอิทธิพลของผู้นำก็มิใช่เป็นอิสระจากกลุ่ม หรือนำกลุ่มคณะของตน
ในทิศทางที่ต้องการได้เสมอไป หมายความว่า การเสนอแนวคิดข้อดี การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
ก็ดี ฯลฯ ล้วนมีข้อจำกัด เพราะการเคลื่อนไหวของผู้นำต้องผ่านความเห็นชอบของกลุ่ม และใน
หลายกรณีกลุ่มก็มีบทบาทและอิทธิพลปิดกั้นข้อเสนอของผู้นำฝ่ายตนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณี
รัชกาลที่ 7 ก่อน 2475 และหรือผู้นำของคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา หลัง
2475 ก็ตาม
กล่าวอีกทางหนึ่งคือ ภาพเบื้องหน้าที่เราเห็นการแสดงออกของผู้นำในวาระต่างๆ ทั้งก่อน
และหลัง 2475 นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนที่เราจะได้เห็นภาพนั้นต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ภายใน
กลุ่มพอควร และมิใช่ทุกครั้งที่ผู้นำจะสามารถผลักดันความคิดของตนเหนือกลุ่ม หรือเป็น
ผู้กำหนดทิศทางของกลุ่มตามที่ตนต้องการได้ ดังตัวอย่างที่มักมีการกล่าวถึงเสมอคือ กรณีที่
รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นรัชกาล แต่ก็ไม่ได้รับเห็น
ชอบจากทั้งคณะเจ้านายและกลุ่มขุนนางเก่าที่มีบทบาทและอิทธิพลในขณะนั้น จนกระทั่งเกิดการ
เปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 และหลัง 2475 บทบาทและอิทธิพลของรัชกาลที่ 7
ในฐานะผู้นำของคณะเจ้านาย ยังคงมีลักษณะจำกัดไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก
นอกจากกรณีรัชกาลที่ 7 แล้ว ผู้นำของคณะราษฎรก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เพราะ
ในหลายกรณีหลัง 2475 ยังปรากฎว่ากลุ่มอยู่เหนือการตัดสินใจของผู้นำ และในอีกหลายกรณี
กลับกลายเป็นว่าผู้นำมักทำตามความต้องการของกลุ่ม เช่น การทำรัฐประหารหลายครั้งพบว่า
ผู้นำมาที่หลังสุด เช่น ในปี 2476 นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่พลังหรือความต้องการทำ
รัฐประหารมาก่อนแล้วจากทหารระดับกลาง-ล่างของกลุ่มนำโดยหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.
พิบูลสงคราม) ดังนั้นการเคลื่อนไหวของผู้นำจึงมิได้เป็นอิสระหรือเป็นตัวกำหนดเสมอไป บ่อยครั้ง
ผู้นำก็ต้องทำตามความต้องการของกลุ่ม โดยมีฐานของกลุ่มตนเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง
และพลังที่เบื้องหลังนี้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจความสำเร็จหรือความล้มเหลวของผู้นำ
ที่ปรากฏออกในเบื้องหน้า และในเบื้องหน้าของการใช้กำลังต่อกันในทางการเมือง อาจมิใช่การ
ตัดสินใจของผู้นำอย่างอิสระ แต่มาจากการผลักดันจากปีกนิยมความรุนแรงของแต่ละกลุ่ม และ
การที่ปีกนี้กลายเป็นพระเอกได้ ก็เพราะมีสภาพแวดล้อมทางการเมืองเกื้อหนุนให้กับการใช้กำลัง
นั่นเอง เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย