Page 278 - kpi15476
P. 278
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 2
เพื่อเป็นการปิดจุดอ่อนของงานวิจัยที่ผ่านมา ข้อเสนอใหม่ในที่นี้จึงขอเน้นว่า การอธิบาย
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยประชาธิปไตยควรต้องเริ่มกระทำผ่านกลุ่ม และกลุ่มในที่นี้มิใช่
กลุ่มลอยๆ ที่มองเห็นแต่ผู้นำ แต่หมายถึงกลุ่มก้อนและเครือข่ายประกอบด้วยสมาชิกที่มีภูมิหลัง
ทางเศรษฐกิจ-สังคมคล้ายกัน คือเป็นกลุ่มการเมืองที่มีฐานด้านเศรษฐกิจ-สังคมกำหนดทั้งเชิง
ปริมาณและคุณภาพ หรือมีรูปธรรมด้านข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ-สังคม และฐานแนวคิดด้าน
นามธรรมเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อและหรืออุดมการณ์ ฯลฯ รองรับและกำกับบทบาทและอิทธิพล
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม ซึ่งทำให้แต่ละกลุ่มมีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจาก
กลุ่มอื่นๆ ในบริบทการเมืองสมัยประชาธิปไตย
การสร้างกลุ่มการเมืองในลักษณะเช่นนี้ มิใช่เพียงเพื่อทำตามแบบการศึกษาของโลก
ตะวันตก แต่เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อทำความรู้จักลักษณะธรรมชาติของกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นหลัง
2475 โดยเฉพาะองค์ประกอบของแต่ละกลุ่มซึ่งล้วนมีกลุ่มย่อยต่างๆ เช่น ภายในคณะเจ้านาย
มีความแตกต่างทางอายุถึง 3 รุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นมีแนวโน้มต่างกัน รุ่นอาวุโสอาจนิยมโต้กลับ
ทางกำลัง แต่รุ่นเยาว์วัยกลับตรงข้าม กลุ่มขุนนางเก่าก็มีความต่างกันทางภูมิหลังถึง 3 แบบ คือ
พวกจารีตประเพณี พวกมาจากชาวจีนจัดเป็นกลุ่มข้าราชการทันสมัย และที่มาจากเชื้อสาย
พระราชวงค์ระดับล่างจัดเป็นพวกนิยมเจ้า ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มชอบใช้กำลังมากกว่า 2 แบบ
แรก และกลุ่มผู้แทนราษฎรมีกลุ่มย่อยแบ่งตามภูมิหลังได้ถึง 3 แบบเช่นกัน คือ เจ้าเมืองเก่า
พ่อค้าชาวจีนและชาวนา แต่ส.ส. ทั้ง 3 แบบนี้นิยมใช้กำลังน้อยกว่าเจ้านายและขุนนางเก่า
ยกเว้นพวกสอบตกหรือพวกที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรกำหนด
ธรรมชาติและแนวโน้มทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม รวมถึงปัญหาความขัดแย้งและแนวทางการ
ต่อสู้ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งทุกกลุ่มมีปีกหัวรุนแรงและล้วนเคยใช้กำลังกันมาแล้ว และเพราะเหตุว่า
ทุกกลุ่มเคยใช้ความรุนแรงมาแล้ว ย่อมจะเปิดเผยให้เห็นถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังว่า ทำไมพวกเขา
จึงใช้ความรุนแรง และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนี้จะสะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาการเมืองในระดับ
โครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นถ้าสังคมไทยต้องการมีบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยง
และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย ในการป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอีก เราทุก
คนต้องช่วยกันค้นหาและแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมนี้ให้ได้ก่อน
แต่ก่อนที่จะก้าวไปถึงขั้นนั้น ต้องออกแบบหรือสร้างเครื่องมือเพื่อศึกษาและค้นหาการเมือง
เชิงกลุ่ม และวิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างดี ในการสร้างตัวตนของแต่ละกลุ่ม
การเมืองไทยให้ปรากฏเป็นเชิงประจักษ์ทั้งในด้านข้อเท็จจริงและคุณภาพด้านความคิดความเชื่อ
หรือวัฒนธรรมตามที่ได้กล่าวมานี้ คือการอาศัย “ปุริสลักขณพยากรณศาสตร์” เป็นกรอบแนวคิด
ในการจัดกลุ่ม เพื่อทำให้เห็นกลุ่มที่แตกต่างกันทางเศรษฐกิจ-สังคม และทำให้แต่ละกลุ่มมีความ
หมายในฐานะพลังที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของเหตุการณ์ทางการเมืองไทยสมัยใหม่ เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย