Page 137 - kpi20756
P. 137
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 1 7
ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย
ในเชิงนโยบายที่มักจะข้องเกี่ยวกับประเด็นความเป็นมุสลิม เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการ
ฮัจญ์ การเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องการคลุมฮิญาบ หรือการสนับสนุนการก่อตั้งธนาคารอิสลาม
เป็นต้น ในแง่นี้เองตัวตนของนักการเมืองมลายูมุสลิมจึงมีความใกล้ชิดกับอัตลักษณ์ของประชาชน
ส่วนใหญ่ในพื้นที่รวมถึงตัวนักการเมืองเองอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด อาจกล่าวได้ว่า การเป็น
ตัวแทนในมุมของนักการเมืองมลายูมุสลิมมีความใกล้ชิดกับเรื่องของการเป็นตัวแทนในเชิง
อัตลักษณ์ของผู้คน และอาจเป็นเพราะพื้นที่นี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบมาอย่างยาวนาน
ทำให้ความคาดหวังของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของประชาชนจึงมักตกอยู่กับนักการเมืองมลายู
มุสลิม และส่งผลให้ความเป็นนักการเมืองมลายูมุสลิมจะต้องขับเคลื่อนบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับ
เรื่องของสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
หากมองในเชิงรายละเอียด จะพบว่าในช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ.2547 มีการขับเคลื่อนของกลุ่ม
นักการเมืองมลายูมุสลิมที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2480 ในระหว่างนี้มีการเกิดรัฐประหารรวมถึงมีการปรับเปลี่ยนของรัฐธรรมนูญ
หลายฉบับ ขณะเดียวกันความรุนแรงในพื้นที่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่การเปลี่ยน
แนวทางของหนึ่งในอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมลายูมุสลิมคนแรก อย่างนายอดุลย์ ณ สายบุรี
ไปสู่การจัดตั้งกลุ่มขบวนการต่อสู้ขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ.2500 และมีการตั้งขบวนการอีกหลายพรรค
หรือหลายองค์กรตามมาภายหลัง และหนึ่งในประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวมลายูมุสลิมชายแดน
ใต้ที่เกิดขึ้นกับหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ในช่วงเวลานั้น นอกจากเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้
เกิดขบวนการต่อสู้ต่างๆ แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเส้นทางทางการเมืองของบุคคล
ในครอบครัวโต๊ะมีนาตามมา ไม่ว่าจะเป็นหะยีอามีน โต๊ะมีนา หรือเด่น โต๊ะมีนา ในขณะเดียวกัน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการถูกปฏิบัติอย่างอธรรมของชาวมลายูมุสลิมที่สะพานกอตอซึ่งนำไปสู่
การประท้วงใหญ่ในปี พ.ศ.2518 ยังเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญที่ก่อให้เกิดนักการเมืองของพื้นที่
ในเวลานั้นอีกหลายคน เมื่อความรุนแรงเริ่มมากขึ้นในช่วงต่อๆ มา การรวมตัวกันของกลุ่มนักการเมือง
ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นคนในครอบครัว หรือกระทั่งเป็นกลุ่มคนที่ออกมาขับเคลื่อน
เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้ประชาชนก็เริ่มค่อยๆ รวมตัวกันจนเกิดเป็นกลุ่มวาดะห์ ซึ่งทำงาน
ทางการเมืองในเขตพื้นที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 อย่างไรก็ตาม กลุ่มวาดะห์ก็ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่ม
นักการเมืองกลุ่มเดียวที่ทำงานในช่วงเวลานี้ ในบางพื้นที่โดยเฉพาะเขตเมืองของทั้งสามจังหวัด
ก็ยังคงเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะภายหลังจากปี พ.ศ. 2531 ที่นักการเมือง
จากกลุ่มวาดะห์ได้ย้ายเข้าไปสังกัดพรรคความหวังใหม่แทน (อิมรอน ซาเหาะ, 2558)
ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปล้นปืนในต้นปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์
การอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมถึงเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ในช่วงปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่
ตัวแทนจากกลุ่มนักการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่มาจากสายวาดะห์ และยังเป็นช่วงที่นับ
ได้ว่ามีตัวแทนที่เป็นนักการเมืองจากพื้นที่ชายแดนใต้ได้เข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ คือ
กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นข้อกังขาและเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ผิดหวังไม่น้อยต่อการที่
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นไม่สามารถใช้อำนาจที่มีในการปกป้องชีวิตของประชาชน
หรือเรียกร้องความยุติธรรมจากกรณีเหตุการณ์กรือเซะและตากใบได้ ในมุมมองของนักการเมืองเอง เอกสารประกอบการสัมมนากลุ่มย่อยที่ 2