Page 175 - kpi20756
P. 175
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 17
ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย
มนุษย์มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่แรก แต่มีความแตกต่างกันในความพยายาม ศักยภาพ และ
ความสามารถ ในแง่นี้ความเหลื่อมล้ำในแง่ของการสั่งสมความมั่งคั่งระหว่างปัจเจกชน (ที่เกิดจาก
ความแตกต่างในความสามารถและความพยายาม) จึงเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ และเป็นเรื่อง
ชอบธรรม การตั้งคำถามกับความมั่งคั่งของผู้อื่นที่ตนไม่อาจแสวงหามาได้ตามทัศนะของโนซิกเป็น
เรื่องของ “ความอิจฉา” (Nozick, 1974) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความเหลื่อมล้ำไม่ได้ถูกมองว่า
“ถูก” หรือ “ผิด” หรือไม่ใช่ประเด็นในเชิงศีลธรรม หากแต่เกิดมาจากธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง
หนึ่งในงานสำคัญที่เป็นจุดตั้งต้นให้โนซิกได้พัฒนาข้อถกเถียงข้างต้นคืองานของจอห์น รอลส์
(John Rawls) ในงานที่มีชื่อว่าทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม (Theory of Justice) รอลส์ได้เสนอ
หลักการที่เรียกว่า “การกระจายรายได้ของคนที่ร่ำรวยที่สุดมาเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของคนที่ยากจน
ที่สุด” (maximin or difference principle) และหลักการความเสมอภาคในแง่ของโอกาส
(equality of opportunity) ที่หัวใจสำคัญอยู่ที่ความแตกต่างในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
ไม่ควรเป็นอุปสรรคในแง่ของโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งในเรื่องการศึกษา และการทำงาน (Rawls,
1999 [1971]) หากพิจารณาในแง่นี้งานของโนซิกและรอลส์ยังมีจุดร่วมที่สำคัญคือการมุ่งเน้น
สิทธิ เสรีภาพของมนุษย์ แต่มีความแตกต่างที่สำคัญตรงที่มุมมองที่มีต่อการกระจายรายได้ของ
กลุ่มคนที่มั่งคั่งที่สุดมายังกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด และการยืนยันในหลักการที่ว่าความแตกต่างทาง
สถานะทางสังคมไม่ควรจะเป็นอุปสรรคในเชิงโอกาส
นอกจากหลักการความเสมอภาคในแง่โอกาสแล้ว อีกหนึ่งหลักการสำคัญที่มักจะเป็นฐาน
สำหรับนักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือหลักความเสมอภาค
ในแง่ของผลลัพธ์ (equality of outcome) หลักการนี้มองว่า แม้ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสในการ
แข่งขันที่เท่าเทียมกัน แต่คนบางกลุ่มอาจเผชิญกับอุปสรรค ปัญหา หรือความโชคร้าย
บางประการจนส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน ดังเช่น เด็กบางคนที่ผู้ปกครองประสบปัญหา
ทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนได้ นอกจากนี้ ผู้แพ้จาก
การแข่งขันมักจะได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าผู้ชนะ เมื่อเวลาผ่านไปความแตกต่างในสถานะและ
ความมั่งคั่งจะมีแนวโน้มที่ส่งผ่านไปยังรุ่นสู่รุ่น จนในท้ายที่สุดอาจส่งผลตามมาทำให้การแข่งขัน
จะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม (Atkinson, 2015)
งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งมักได้รับการอ้างถึงเป็นวงกว้างในช่วงเวลาที่ผ่านมาคืองานของ
อมาตยา เซน (Amartya Sen) ที่แม้จะให้ความสำคัญกับ “เสรีภาพ” เช่นเดียวกับนักวิชาการ
สายเสรีนิยม หรืออิสระเสรีนิยมที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่เซนตระหนักถึงข้อจำกัดของกลไกตลาด
ที่ไม่สามารถทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดได้ประโยชน์ มักจะมี
ผู้เสียประโยชน์ เช่นเดียวกับข้อจำกัดในการจัดสรรสิ่งที่เป็นสินค้าสาธารณะ ขณะเดียวกันยิ่งรัฐ
ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานมากเท่าใด จะยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจน
ซึ่งจะส่งผลตามมาทำให้มนุษย์ไม่อาจใช้สมรรถภาพ (capacities) ของตนได้อย่างเต็มที่ ภายใต้
บริบทและเงื่อนไขดังกล่าว รัฐจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่ออุดช่องโหว่ที่เกิดจากกลไกตลาด
และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กระทบต่อการใช้สมรรถภาพของมนุษย์ (Sen, 1999) เอกสารประกอบการสัมมนากลุ่มย่อยที่ 3