Page 183 - kpi20756
P. 183
การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 18
ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย
ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง จะเห็นได้ว่ามวลชนหรือภาคประชาสังคมเองไม่ได้นิ่งเฉยเสมอไป
อาจจะเป็นเพราะตัวแสดงเหล่านี้มองว่าพื้นที่ของสถาบันการเมืองถูกครอบงำโดย “ชนชั้นนำ
ร้อยละ 1” เท่านั้น จึงทำให้เลือกที่จะเคลื่อนไหว “ภายนอกสถาบันการเมือง” เป็นสำคัญ ดังจะ
เห็นได้จากบทบาทของขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม ดังเช่น ขบวนการยึดครอง
แม้ว่าผลในเชิงรูปธรรมขบวนการเหล่านี้อาจไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายหรือเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างทางการเมืองได้ แต่การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ส่งผลตามมาทำให้มวลชนมีความ
ตระหนักในความสำคัญของปัญหามากขึ้น และอาจส่งผลตามมาในการสร้างแรงกดดันไปยัง
ชนชั้นนำและระบบการเมือง ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตย
อาจไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากในด้านหนึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศยังขาด
“ความสำนึกในชนชั้น และความตระหนักในสภาพปัญหา” จนไม่อาจรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องได้
และในอีกด้านหนึ่งชนชั้นนำยังผูกขาดบทบาทนำในทางการเมืองอยู่อาจเป็นการยากที่จะดำเนิน
นโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Crawford and Abdulai, 2012)
อีกหนึ่งกลุ่มงานสำคัญที่ออกมาโต้แย้งงานกลุ่ม “ปัจจัยเชิงเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อ
การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง” คืองานกลุ่มที่อาจจะเรียกว่า “ปัจจัยเชิงการเมืองที่ส่งผล
ต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง” หนึ่งในตัวแปรทางการเมืองที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาโต้แย้ง
คือ “ศักยภาพของรัฐ” (state capacity) และชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในตัวเองไม่ได้ส่งผลต่อ
การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง หากแต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญนั่นคือศักยภาพของรัฐ
กล่าวคือในบริบทที่รัฐขาดศักยภาพ แม้ว่าจะประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับสูง แต่
การเปลี่ยนแปลงระบอบจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากตัวแสดงที่มีเหตุมีผล และมีบทบาทหลักในการ
ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบ จะเล็งเห็นแล้วว่า แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง แต่จะ
ไม่สามารถดำเนินนโยบายกระจายทรัพยากรได้เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากรัฐนั้นด้อยในศักยภาพ
ที่จะดำเนินการ ข้อโต้แย้งดังกล่าวได้รับการทดสอบจากการศึกษาในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1945-
1990 ใน 112 ประเทศที่พบว่าขีดความสามารถของรัฐส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบ ในกรณี
รัฐที่เข้มแข็ง หากประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ โอกาสในการเปลี่ยนผ่านระบอบจะมีสูง
แต่ในกรณีรัฐที่อ่อนแอ แม้ว่าจะประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของ
ระบอบ (Soifer, 2013)
ในทำนองเดียวกัน จากการศึกษาประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมมาก่อน 139 ประเทศ
ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1972-2007 ได้ข้อสรุปสำคัญว่าการล่มสลายของประชาธิปไตย
ในประเทศ “หลังอาณานิคม” ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากแรงกดดันเรื่องการกระจายทรัพยากรของ
ตัวแสดงเสมอไป แต่การล่มสลายดังกล่าวมักจะมาจากความอ่อนแอของรัฐ รวมถึงเหตุผลส่วนตัว
ของกองทัพ ต่อประเด็นสำคัญประการแรกในเรื่องความอ่อนแอของรัฐ ซึ่งผู้เขียนได้ใช้ตัวชี้วัด
สำคัญนั่นคือ “การเก็บภาษี” ผลการศึกษาชี้ว่าการรัฐประหารไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเก็บ
ภาษีคนรวย ภาษีทางตรง และภาษีจากเงินทุนแต่อย่างใด ต่อประเด็นที่สองนั่นคือ บทบาทของ
กองทัพ มีการชี้ให้เห็นว่าในประเทศหลังอาณานิคม ทหารมีความเป็นอิสระ และมีบทบาทในทุก
แง่มุมทางการเมือง แตกต่างจากในประเทศตะวันตก (Slater, Smith and Nair, 2014) เอกสารประกอบการสัมมนากลุ่มย่อยที่ 3