Page 104 - kpiebook62010
P. 104

97






                             นอกจากนี้ หากจะยอมรับในหลักการว่า ควรมีการบัญญัติถึงรายละเอียดของการกระทำที่ให้

               ถือว่าเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์แล้ว พฤติกรรมหรือการกระทำใดบ้างที่เหมาะสม และสมควรได้รับการบัญญัติ
               ไว้ว่าเป็นการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์ เนื่องจากข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์ทั้ง 19 หรือ 20 ข้อ ที่เคยปรากฏใน
               ร่างพระราชบัญญัติของกรมปศุสัตว์ที่ตรงกับข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น ก็มีบางข้อที่อาจถกเถียงหรือเปิดช่อง

               ให้มีการตีความได้ เช่น การใช้พาหนะขนหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ไม่เหมาะสม การเลี้ยงกักขังในที่แคบเเออัด การใช้
               เครื่องพันธนาการที่ไม่เหมาะสมหรือพันธนาการกักขังสัตว์ไว้นานเกินไป การทอดทิ้งสัตว์เพื่อให้พ้นภาระ ทำให้สัตว์
               เลี้ยงในครอบครองทุกข์ทรมานโดยการอดข้าวอดน้ำ หรือกรณีที่เจ้าของสัตว์ไม่ให้การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงในยาม

               เจ็บป่วย ก็เป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งกันกันว่าจะถือเป็นการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์ หรือถือว่าเป็นการจัดสวัสดิภาพสัตว์
               ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์บางข้อก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการตีความและอาจจะมี
               ข้อถกเถียงได้ เช่น การนำสัตว์ที่เป็นอริกันไว้ในที่เดียวกันหรือใช้สัตว์เลือดอุ่นที่มีชีวิตอยู่เป็นอาหารสัตว์อื่นโดยมี

               ทางเลือกอื่นที่เป็นอาหารได้นั้น ก็เป็นข้อห้ามที่อาจนำมาซึ่งข้อถกเถียงได้

                             ดังนั้น การที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนี้ โดยการบัญญัติระบุรายละเอียดของการกระทำที่ให้

               ถือว่าเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์นั้น นอกจากจะพิจารณาว่า สมควรที่จะระบุรายละเอียดหรือไม่แล้ว ยังต้อง
               พิจารณาต่อไปด้วยว่าการกระทำใดบ้างที่ควรถือว่าเป็นการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์โดยผลของกฎหมาย


                     5.2.2  ปัญหาเรื่องผลทางกฎหมายเมื่อมนุษย์ทำการตอบโต้ในกรณีที่ได้รับอันตราย
               หรืออาจได้รับอันตรายจากสัตว์


                             มีปัญหาว่า ในกรณีที่สัตว์ทำอันตราย หรือจะทำอันตรายต่อมนุษย์นั้น มนุษย์จะสามารถกระทำ
               การตอบโต้โดยชอบด้วยกฎหมายที่ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้
               หรือไม่ แค่ไหน เพียงไร


                             แม้มาตรา 21 จะกำหนดไว้ในอนุมาตรา (6) ว่า “การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกัน
               อันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน” นั้น

               ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร

                             แต่ก็มีปัญหาว่า หากไม่ใช่การฆ่า แต่เป็นการทำร้ายสัตว์ตามสมควรเพื่อการดังกล่าวจะกระทำได้

               หรือไม่ หากพิจารณาโดยเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรของบทบัญญัติกฎหมาย ก็อาจเข้าใจได้ว่าเมื่อกฎหมาย
               บัญญัติไว้เฉพาะให้ทำการฆ่าสัตว์ในกรณีจำเป็นดังกล่าวเท่านั้น ก็ไม่รวมถึงการทำร้ายด้วย เว้นแต่จะตีความด้วย
               หลัก “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น” จากสิ่งที่ใหญ่กว่าไปสู่สิ่งเล็กกว่า (argumentum a maiore ad minus) ซึ่งเป็น

               หลักการตีความกฎหมายทั่วไป ก็อาจจะพิจารณาได้ว่า ในเมื่อการฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นดังกล่าวนั้นยัง
               กระทำได้ การทำร้ายซึ่งถือเป็นมาตรการที่เบากว่าก็น่าจะทำได้เช่นกัน


                             อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัด
               สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้นมีแง่มุมเพียงการคุ้มครองสัตว์จากการกระทำของมนุษย์ และมีการดำเนินคดีเพียง
               คดีที่มีลักษณะเป็นการเอาผิดและลงโทษแก่ผู้ที่ทำร้ายหรือฆ่าสัตว์เท่านั้น ทำให้เกิดความเข้าใจและการตีความ










                       ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
   99   100   101   102   103   104   105   106   107   108   109