Page 19 - kpiebook62010
P. 19
12
ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานะทางศีลธรรมของสัตว์นั้นไม่ได้อยู่ที่คำถามที่ว่าสัตว์นั้นสามารถใช้เหตุผลได้หรือไม่ หากแต่
อยู่ที่ว่าสัตว์นั้นสามารถรับรู้ความทุกข์ทรมานได้หรือไม่ งานเขียนของชาวอเมริกันในยุคเดียวกันหลายคนได้ให้
ความเห็นเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ในทำนองเดียวกับเบนธัม เช่น เฮอร์แมน แดกเกต (Herman Daggett) ได้กล่าวว่า
สัตว์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ของพระเจ้า สัตว์จึงได้รับสิทธิพิเศษรวมถึงสิทธิที่จะปลอดจากการถูกทำให้ได้
รับความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็นจากฝีมือมนุษย์ และในยุคต่อมา เฮนรี่ ซอล (Henry S. Salt) ได้อธิบายเพิ่มเติมจาก
คำกล่าวของแดกเกต โดยกล่าวว่า สัตว์มีสิทธิและสิทธินี้เกิดขึ้นจากความอิสระในการดำรงชีวิตโดยธรรมชาติของ
สัตว์ การยอมรับดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาให้มนุษย์เป็นปัจเจกชนมากขึ้น และเห็นว่า สัตว์ยังคงถูกมนุษย์ใช้ตาม
ความต้องการได้ แต่มนุษย์ไม่ควรที่จะมีสิทธิทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บหรือทำร้ายโดยไม่จำเป็นจากการใช้สัตว์
เพื่อประโยชน์มนุษย์อย่างแน่นอน ซึ่งหากมีการกระทำดังกล่าวก็ถือว่าเป็นความผิดหรือความไม่ถูกต้องตามทำนอง
คลองธรรม 12
2.2 สถานะทางกฎหมายของสัตว์
สถานะทางกฎหมายของสัตว์นั้นมีพัฒนาการเรื่อยมา ตั้งแต่ความคิดแรกที่มองว่าสัตว์เป็นทรัพย์สินของ
มนุษย์ ไปสู่ความคิดว่าสัตว์อยู่ในฐานะเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามหลักจริยธรรม พัฒนาต่อไปสู่จุดที่สัตว์
ในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่พึงได้รับความคุ้มครอง และแนวคิดที่อาจจะถือว่าท้าทายความคิดในเรื่องสิทธิของมนุษย์
มากที่สุด คือแนวคิดที่ว่าสัตว์เป็นผู้ทรงสิทธิในตัวของมันเอง ดังนี้
2.2.1 สัตว์ในฐานะเป็นทรัพย์สินของมนุษย์
มุมมองที่ว่าสัตว์เป็นทรัพย์สินของมนุษย์นั้นเป็นมุมมองที่เก่าแก่ที่สุด ตั้งแต่อดีตกาล ยุคกรีก โรมัน
จนถึงในยุคกลาง โดยมุมมองนี้ถือว่าสัตว์นี้มีสถานะเป็นเสมือนวัตถุสิ่งของที่ไม่มีความสามารถในการรับรู้ถึง
ความเจ็บปวดใดๆ โดยมนุษย์จะสามารถครอบครองหรือทำอย่างไรต่อสัตว์ก็ได้ แนวคิดนี้จึงมีลักษณะในทาง
กฎหมายว่า สัตว์เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มนุษย์จะครอบครองได้ โดยเจ้าของผู้ครอบครองสัตว์นั้นมีสิทธิตาม
13
กฎหมายอย่างเต็มที่ในอันที่จะใช้ประโยชน์จากสัตว์ของตนได้เสมือนกับการใช้ทรัพย์สินอย่างอื่นของตน ดังนั้น
กฎหมายในยุคสมัยที่มีมุมมองว่าสัตว์เป็นทรัพย์สินของมนุษย์นี้ หากจะมีลักษณะที่เป็นการป้องกันการทารุณกรรม
สัตว์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่การคุ้มครองสัตว์ในฐานะที่มันเป็น “สัตว์” แต่เป็นกฎหมายในลักษณะที่มุ่งคุ้มครองทรัพย์สิน
ของบุคคลหนึ่งเท่านั้น หากมีผู้มาลัก ฆ่า หรือทารุณต่อสัตว์ที่มีเจ้าของใดแล้ว ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดต่อทรัพย์
สินของบุคคลอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อสัตว์ได้ถูกครอบครองแล้ว ในทางกฎหมายสัตว์นั้นก็จะมีฐานะเป็นทรัพย์
สินของผู้ครอบครอง และเมื่อนั้นสัตว์ก็จะได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมาย ผ่านการให้ความคุ้มครองความเป็น
เจ้าของสัตว์ภายใต้กฎหมายเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องละเมิด (Tort) เรื่องลักขโมย (Thief) โดยความคุ้มครองที่สัตว์ได้รับ
ในที่นี้จะมีลักษณะเช่นเดียวกับการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินประเภทอื่นของผู้เป็นเจ้าของ ส่วนสัตว์ป่าหรือสัตว์
เร่ร่อนที่ไม่มีเจ้าของ กฎหมายจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้สัตว์ที่ไม่มีเจ้าของไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ทางกฎหมาย
12 Magrit Livingston. อ้างถึงใน ธันวรัตน์ โรจนโรวรรณ. อ้างแล้ว. หน้า 68-69
13 ธันวรัตน์ โรจนโรวรรณ. มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการทารุณสัตว์. (2551) กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย หน้า 90
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557